MGR Online - รอง ผบ.ตร.เผยสถานภาพอาชญากรรมทุกกลุ่มคดีมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตลอดปี 2559 เน้นป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกและการข่าวเฝ้าระวังจุดล่อแหลมพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ จับยาเสพติด 236,961 คดี ผู้ต้องหา 257,533 คน อาวุธปืนและวัตถุระเบิด 29,779 คดี ผู้ต้องหา 32,035 คน
วันนี้ (17 ก.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม เปิดเผยว่า จากการเปรียบเทียบสถานภาพอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในห้วงเดือนตุลาคม 2558 จนถึงกลางเดือนกันยายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าคดีอาชญากรรมทุกกลุ่มมีสถิติการรับแจ้งลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่การติดตามจับกุมและคลี่คลายในคดีต่างๆ ได้ผลเกินกว่าร้อยละ 80 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่ให้มีการบูรณาการกำลังทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ผ่ายปกครอง และอาสาสมัคร เพื่อร่วมกันดำเนินการป้องกันอาชญากรรมในเชิงรุกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้จัดหางบประมาณในการติดตั้งกล้องซีซีทีวี และไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่เสี่ยงและล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม มีผลทำให้สามารถลดอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การติดตามจับกุมคนร้ายในคดีต่างๆ ทั้งคดีอาชญากรรมทั่วไป คดีอาชญากรรมสำคัญทางด้านความมั่นคง เทคโนโลยี คนร้ายข้ามชาติ ค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการพนัน ก็มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างชัดเจน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพี่น้องประชาชนในการแจ้งเบาะแสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ในภาพรวมของประเทศในรอบปีที่ผ่านมามีคดีที่รับแจ้งไว้รวมทั้งสิ้น 660,812 คดี ลดลง 92,166 คดี คิดเป็นร้อยละ 12.24 สามารถคลี่คลายและจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้ 571,451 คดี คิดเป็นร้อยละ 86.74 โดยคดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ ได้แก่ คดีฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่า ทำร้ายร่างกาย และ ข่มขืนกระทำชำเรา มีคดีรับแจ้งทั้งหมดทั่วประเทศ 21,466 คดี ลดลง 2,669 คดี คิดเป็นร้อยละ 11.06 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 15,576 คดี คิดเป็นร้อยละ 72.56 และคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ได้แก่ คดีปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ รับของโจร ลักพาเรียกค่าไถ่ และ วางเพลิง โดยมีคดีรับแจ้งทั้งหมดทั่วประเทศ 62,723 คดี ลดลง 7,625 คดี คิดเป็นร้อยละ 10.84 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 31,899 คดี คิดเป็นร้อยละ 50.86
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวด้วยว่า สำหรับคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.17 ฉบับ เช่น การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ก็มีการรับแจ้งลดลงเช่นเดียวกัน โดยทั้งหมดทั่วประเทศรับแจ้ง 21,179 คดี ลดลง 5,814 คดี คิดเป็นร้อยละ 21.54 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 9,680 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.71 โดยความผิดเกี่ยวกับค้ามนุษย์ สามารถจับกุมได้เพิ่มขึ้นสูงสุดร้อยละ 24.34 ส่วนคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ได้แก่ คดียาเสพติดอาวุธปืนวัตถุระเบิด การพนัน สื่อสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย การค้าประเวณี สถานบริการผิดกฎหมาย และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างมีผลการจับกุมเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 400,180 คดี ผู้ต้องหา 496,499 คน โดยคดียาเสพติดจับกุมได้สูงสุด 236,961 คดี ผู้ต้องหา 257,533 คน ส่วนคดีอาวุธปืนและวัตถุระเบิด จับกุมได้ 29,779 คดี ผู้ต้องหา 32,035 คน
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวด้วยว่า ในภาพรวมของการทำงานด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะคดีโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยคดีโจรกรรมรถยนต์รับแจ้งทั่วประเทศ 411 ราย ลดลง 453 ราย คิดเป็นร้อยละ 52.43 ส่วนคดีโจรกรรมจักรยานยนต์ รับแจ้ง 5,716 ราย ลดลง 2,915 ราย ลดลงร้อยละ 33.77 โดยในการประชุมเร่งรัดติดตามคดีสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยเร่งคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง และมีการประสานงานการข่าวระหว่างหน่วยต่างๆ อย่างใกล้ชิด ส่วนการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมยังคงเน้นในเรื่องของการป้องกันในเชิงรุก และบูรณาการกำลังจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังมิให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาชนในทุกภาคส่วนด้วย