MGR Online - มูลนิธิกระจกเงาพาผู้ปกครองของเด็กหายเกิน 10 ปี เก็บดีเอ็นเอ ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์พาเด็กหายกลับบ้านเพื่อเป็นฐานข้อมูล ตามโครงการ “THAILAND DNA-PROKIDS PROJECT”
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์คนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พร้อมด้วยนางโสรยา ด่านเกื้อกูล มารดาของ ด.ช.ชัยภาษ ด่านเกื้อกูล หรือน้องเท็น, นางสุรีรัตน์ บัวนาค มารดาของ ด.ช.นฤดล เยื้อนหนูวงศ์ หรือน้องโอ๊ต และนางมลฑา ศิริทัย มารดาของ ด.ญ.เบญรัตน์ วงษ์ประจันต์ หรือน้องพลอย เข้าพบ พล.ต.ต.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ พูดคุยข้อมูลและตรวจดีเอ็นเอของผู้ปกครองทั้ง 3 รายเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการติดตามลูกที่หายไปนานกว่า 10 ปี
นายเอกลักษณ์กล่าวว่า วันนี้ตนได้พาครอบครัวเด็กหายทั้ง 3 ครอบครัวที่หายออกจากบ้านไปนานเกิน 10 ปี มาเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเก็บไว้ซึ่งจะสามารถนำมาเปรียบเทียบกับเบาะแสที่อาจได้รับมาในอนาคต เพราะเด็กที่หายไปนานเกิน 10 ปีจะมีรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไป และอาจจะจดจำเรื่องรายละเอียดของครอบครัวไม่ได้ เพราะหายออกจากบ้านไปตั้งแต่ยังเด็ก ฉะนั้น การเก็บดีเอ็นเอของพ่อแม่คือแนวทางที่สามารถตามหาคนหายได้ ทั้งนี้ สถิติเด็กหายย้อนหลังของมูลนิธิกระจกเงา ในปี 2558 มีเด็กหายทั้งสิ้น 592 ราย เป็นเด็กชาย 155 ราย เป็นเด็กหญิง 437 ราย ส่วนในปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารับแจ้งเด็กหายรวม 264 ราย แบ่งเป็นเด็กชาย 67 ราย และเด็กหญิง 197 ราย
ด้าน พล.ต.ต.พรชัยกล่าวว่า เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อการตามหาบุคคลหาย ที่ผ่านมาสถาบันนิติเวชมีการตรวจดีเอ็นเอของญาติผู้ปกครองเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลกว่า 1,000 ราย ภายใต้โครงการ “THAILAND DNA-PROKIDS PROJECT” หรือดีเอ็นเอโปรคิดส์ จึงกลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ที่สูญหายออกจากบ้าน ด้วยโครงการใช้หลักฐานการตรวจทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) มาระบุตัวบุคคลและความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว นับเป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานตำรวจกระบวนการยุติธรรม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่ายมาสนับสนุนข้อมูล และการสืบค้นหาบุคคลที่อาจต้องอยู่ในอันตรายจากขบวนการค้ามนุษย์
พล.ต.ต.พรชัยกล่าวว่า ดีเอ็นเอโปรคิดส์เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ ด้วยการเก็บสารพันธุกรรมของญาติสายตรงที่มาแจ้งว่ามีสายสัมพันธ์กับผู้สูญหาย อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป เช่น พ่อ แม่ มาแจ้งความว่าบุตรหายก็จะตรวจสารพันธุกรรมของพ่อแม่แล้วเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ในระบบฐานข้อมูล จากนั้นเมื่อมีการพบเด็กที่ไม่ทราบตัวบุคคลชัดเจน สงสัยว่าถูกลักพาหรือล่อลวงไป จะทำการตรวจสารพันธุกรรมของเด็ก จากนั้นบันทึกข้อมูลสารพันธุกรรมลงไปตรวจสอบในระบบฐานข้อมูล ซึ่งโปรแกรมตรวจสอบจะประมวลผลว่าตรงกับสารพันธุกรรมของผู้ปกครองที่เก็บไว้ในระบบหรือไม่ หากพบจะรายงานผลว่าเป็นสายสัมพันธ์ผู้ใด หากยังไม่พบก็จะยังเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลเพื่อรอให้โปรแกรมตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อาจมีการแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ปกครองที่ลูกหายสามารถมาเก็บดีเอ็นเอไว้เป็นฐานข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่แนะนำว่าควรไปแจ้งความคนหายไว้ก่อน
ด้านนางโสรยา ด่านเกื้อกูล มารดาของ ด.ช.ชัยภาษ ที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2549 ปัจจุบันลูกหายไปนาน 10 ปีเต็ม กล่าวว่า ทุกวันนี้นับวันรอลูกกลับมาบ้าน ต้องขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันตามหาเด็กหาย หวังว่าจะมีคนทราบเบาะแสและติดต่อกลับมา เชื่อว่าลูกยังมีชีวิตอยู่และมีความหวังในการได้ลูกคืน
ส่วนนางสุรีรัตน์ บัวนาค มารดาของ ด.ช.นฤดล เยื้อนหนูวงศ์ หรือน้องโอ๊ต กล่าวว่า บุตรชายของตนหายออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากบ้านย่านอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2545 รวมระยะเวลาที่หายไปนานกว่า 14 ปี จนถึงตอนนี้ลูกชายจะมีอายุ 21 ปีเต็มแล้ว ยังไม่เคยมีเบาะแสที่ชัดเจนเกี่ยวกับลูกชายเลยจนถึงทุกวันนี้ หวังว่าวันหนึ่งจะได้เบาะแสของลูกเพราะรอการกลับมาของลูกอยู่ทุกวัน
ขณะที่นางมลฑา ศิริทัย มารดาของ ด.ญ.เบญรัตน์ วงษ์ประจันต์ หรือน้องพลอย กล่าวว่า บุตรสาวของตนหายตัวไปที่ตลาดนัดคลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2549 ซึ่งตอนนั้น น้องพลอยอายุเพียง 4 ขวบ จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 10 ปีเต็มที่ตนรอคอยการกลับมาของลูก อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนติดตามหาบุตรสาว และฝากคนในสังคมหากใครอุปการะน้องพลอยไว้ขอให้ติดต่อกลับมาที่มูลนิธิกระจกเงา หมายเลข 08-0775-2673
ด้าน พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผู้กำกับการ 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร ที่มีบทบาทสำคัญในการสเกตช์ภาพจำลองเทียบเท่าอายุปัจจุบันของเด็กหาย หรือ AGE PROGRESSION กล่าวว่า การสเกตช์ภาพจำลองของเด็กหายเป็นกระบวนการที่นำมาช่วยในการทำภาพเปรียบเทียบเด็กที่หายไปนานว่าเมื่อโตขึ้นจะมีลักษณะรูปร่างหน้าตาแบบใด เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนช่วยกันสังเกต โดยปัจจุบันมีการทำภาพจำลองเด็กหายแล้วจำนวน 5 ราย