“ศานิตย์” ย้ำให้ตำรวจกดสัญญาณไฟเองเฉพาะช่วงรถติด ไม่ใช่กดทั้งวันทั้งคืน พร้อมแจง “ไฟกะพริบ” เน้นเรื่องความปลอดภัย สั่งทุก สน. ตรวจสอบเลือกใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
วันนี้ (18 ส.ค.) เมื่อเวลา 21.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. กล่าวถึงกรณีเปิดสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ ว่า ช่วงนี้อาจจะมีเรื่องเกี่ยวกับการจราจร ทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสงสัยในข้อสั่งการ ขอชี้แจง 2 กรณี ดังนี้ ในกรณีแรกมีการพูดว่านครบาลสั่งให้ตำรวจจราจรยกเลิกการใช้สัญญาณไฟอัตโนมัติ และให้ตำรวจจราจรมากดสัณญาณไฟด้วยตนเอง คือจริง ๆ แล้ว ที่มีคำสั่งออกไปว่าให้ตำรวจจราจรมากดสัญญาณไฟเองนั้น หมายถึงกรณีที่เป็นช่วงเวลาเร่งด่วน ที่มีการจราจรติดขัด ซึ่งบางเส้นทางอาจจะมีรถเยอะ หรือน้อยก็ตาม แต่ถ้าจุดไหนที่มีการจราจรติดขัด ก็ให้ตำรวจจราจรไปกดสัญญาณด้วยตนเอง แต่ไม่ใช่กดทั้งวันทั้งคืน
ส่วนกรณีที่สอง คือ การใช้สัญญาณไฟกะพริบสีแดง ตัวอย่างเช่น มีธุระตี 1-2 แต่เมื่อถึง 4 แยก ก็ต้องติดไฟแดงที่ตั้งไว้อัตโนมัติ ซึ่งบางคนอาจจะเสียเวลา บางคนอาจจะฝ่าไฟแดง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีตำรวจ เบื้องต้นจึงได้สั่งการให้ตำรวจทุก สน. ไปสำรวจ ตรวจสอบ เพื่อบรรเทา และมอบความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน รวมทั้งเน้นในเรื่องความปลอดภัยด้วย ซึ่งสัญญาณไฟกะพริบสีแดงนั้น ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ปี 22 มาตรา 22 อนุ 5 เขียนไว้ว่า เมื่อผู้ขับขี่มาถึงบริเวณทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณไฟกะพริบสีแดง ให้หยุดรถหลังเส้นหยุด (เส้นขาว) ดูให้ปลอดภัย แล้วถึงออกรถได้ ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว การฝ่าไฟแดงถือว่าผิด แต่ฝ่าไฟกะพริบไม่ผิด แค่รอประมาณ 2-3 วินาทีหยุดรถ เพื่อดูว่าอันตรายหรือไม่ ค่อยออกรถไป จะสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากกว่า ทั้งนี้ยังไม่มีการสั่งให้ดำเนินการ แต่สั่งให้ไปตรวจสอบความเป็นไปได้ ตามจุดที่มีการจราจรติดขัด และเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ทุก สน. แต่เป็นความเหมาะสม และสะดวกด้วย แต่ในพื้นที่ที่มีสถานบันเทิง และสถานบริการนั้น ก็จะไม่มีสัญญาณไฟกะพริบ เพราะว่าเป็นสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน และอาจจะเกิดอันตรายได้ ส่วนมากจะเน้นติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบในแถบปริมณฑลเท่านั้น
ทั้งนี้ จะเน้นเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน หรือมีการจราจรติดขัดเท่านั้น ที่จะให้ตำรวจตรวจตรามากดสัญญาณไฟ ส่วนกรณีศึกษา และกำหนดมาตราต่าง ๆ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ถ้าทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำได้ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนแน่นอน แต่ถ้าทำแล้วเกิดปัญหาก็ยกเลิกไป