กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 ซึ่งเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 60 ก และมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา แทนกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2548 ที่ถูกยกเลิก
ของใหม่ดูผิวเผินเหมือนจะไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ให้เหล่า “สีกากี” ต้องตื่นตระหนกมากนัก แต่หากพินิจพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ ต้องบอกว่า “กฎ ก.ตร.ป้ายแดง”ฉบับนี้ ซ่อนดาบ ซ่อนเขี้ยวเล็บไว้ แบบไม่ธรรมดา
แม้ในหมวด 2 หลักเกณฑ์การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ บทที่ 1 การคัดเลือกหรือแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ข้อ 16 การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตั้งแต่ระดับจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงระดับสารวัตร ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาจากผู้ที่มีคุณสมบัติ ซึ่งเป็นที่สนใจของเหล่า “สีกากี” หลักเกณฑ์การครองตำแหน่งจะไม่เหนือความคาดหมาย เพราะต่างก็รับรู้ รับทราบ นโยบายชักบันไดหนีระดับ “นายพัน” หรือ บวก 1 และสร้างลิฟท์ให้ระดับ “นายพล” ลบ 1 ของผู้มีอำนาจมาก่อนหน้านี้แล้ว
โดยระดับ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เลื่อนเป็น จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ยศ พล.ต.ท. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งเหมือนของเก่า เช่นเดียวกับ ผู้บัญชาการ (ผบช.) เลื่อนเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยศ พล.ต.ท. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 1 ปี รองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.) เลื่อนเป็น ผบช. ยศ พล.ต.ต. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 1 ปี จากเดิม 2 ปี ผู้บังคับการ (ผบก.) เลื่อนเป็น รอง ผบช. ยศ พล.ต.ต. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 2 ปี จากเดิม 3 ปี
ระดับ รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) เลื่อนเป็น ผบก. ยศ พ.ต.อ. ซึ่งได้รับอัตราเงินเดือน พ.ต.อ. (พิเศษ) ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การเลื่อนยศเป็น พล.ต.ต. จากเดิม 4 ปี ผู้กำกับการ (ผกก.) เลื่อนเป็น รอง ผบก. ยศ พ.ต.อ. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 5 ปี จากเดิม 4 ปี รองผู้กำกับการ (รอง ผกก.) เลื่อนเป็น ผกก. ยศ พ.ต.ท. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 4 ปี จากเดิม 3 ปี
สารวัตร (สว.) เลื่อนเป็น รอง ผกก. ยศ พ.ต.ท. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 6 ปี จากเดิม 5 ปี และรองสารวัตร (รอง สว.) เลื่อนเป็น สว. ยศ ร.ต.อ. ต้องดำรงตำแหน่งเดิมไม่น้อยกว่า 7 ปี ซึ่งเท่าของเดิม 7 ปี
แต่ กฎ ก.ตร. ฉบับนี้ กลับซ่อนเขี้ยวเล็บไว้ในหมวด 1 บททั่วไป ข้อ 6 ที่ระบุ การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ให้คำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นสำคัญ โดยยึดในหลักการที่ว่า ทุกพื้นที่ในราชอาณาจักรไทยจำเป็นที่ข้าราชการตำรวจมีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติราชการทั้งสิ้น จึงให้ผู้มีอำนาจสามารถดำเนินการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งในลักษณะงานหรือพื้นที่อื่นที่ต่างจากเดิมได้ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจเกิดการเรียนรู้ การทำงานรอบด้าน หรือพื้นที่ที่หลากหลาย อันจะเกิดประโยชน์ต่อทางราชการ
นอกจากนี้ยังมีในข้อ 8 ระบุ ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งระดับรองผู้บังคับการลงมา แจ้งภูมิลำเนาและจังหวัดที่ครอบครัวพักอาศัยตามรูปแบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไปยังหัวหน้าหน่วยต้นสังกัดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม ของทุกปี ในกรณีที่ผู้ใดไม่ได้แจ้งภูมิลำเนาและจังหวัดที่ครอบครัวพักอาศัย หรือไม่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปจากที่ได้แจ้งไว้เดิมภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาและจังหวัดที่ครอบครัวพักอาศัย ณ ที่อยู่ ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการหรือตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้เดิมแล้วแต่กรณี โดยไม่ประสงค์ที่จะโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิจากผู้บังคับบัญชา
ระบุไว้เช่นนี้เสมือนเป็นการ “ติดดาบ” ให้อำนาจ ผบ.ตร. ดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะในการแต่งตั้งตำรวจวาระประจำปี 2559 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ก็จะใช้กฎ ก.ตร.ฉบับนี้ เป็นเกาะป้องกันการถูกฟ้องร้องได้อีกทางหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้ ก็ได้รับไฟเขียวจาก หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งใช้มาตรา 44 ก็ให้อำนาจ “ผบ.ตร” ในการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่แล้ว
เนื่องจากในการแต่งตั้งตำรวจระดับ “นายพัน” วาระประจำปี 2558 ที่ผ่านมา ในการทำบัญชีแต่งตั้ช่วงหนึ่งก็เกิดปัญหาสะดุดทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบัญชีใหม่ หลังจากมีคำสั่ง ตร.ที่ 344 ออกมาให้ พ.ต.อ.สมิง รอดรัตษะ ผกก.สน.ประชาสำราญ ไปเป็น ผกก.สส.ศชต. จน พ.ต.อ.สมิงโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งระบุ "...ผมทุ่มเทไปเพื่ออะไรครับ เมื่อผลออกมาเป็นเช่น คำสั่ง 344/59 ไม่มีความผิด ไม่มีความบกพร่อง ในการปฏิบัติหน้าที่ เจอกันที่ศาลปกครอง..." ทำให้ต้องมีการแก้คำสั่งกันใหม่และออกคำสั่ง ตร.ที่ 345 ให้ พ.ต.อ.สมิง ไปเป็น ผกก.ฝอ.สพฐ.1
ดังนั้นเมื่อมี กฎ ก.ตร.ฉบับนี้ ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าตำรวจทุกนายสามารถไปดำรงตำแหน่งได้ทั่วประเทศ เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน และเป็นการเรียนรู้งานในหน้าที่อื่นๆให้รอบด้าน ก็เหมือนเป็นการบ่งบอกที่ชัดเจนแล้วว่าในการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย ตำรวจทุกนายสามารถไปอยู่ตำแหน่งไหน พื้นที่ใด ก็ได้ทั่วประเทศ ไม่มีขัดจำกัดความชำนาญ ความคุ้นเคยเหมือนที่ผ่านมา และก็น่าจะทำให้ปัญหาฟ้องร้องเหมือนกลุ่มเยียวยาที่โดนเด้งออกจาก “นครบาล” ไปอยู่ “ภูธร” ฟ้องร้อง จนได้รับการเยียวยาและสร้างปัญหาในการแต่งตั้งให้ยืดเยื้อยาวนานเป็นประวัติศาสตร์อย่างที่เกิดขึ้น
กฎ ก.ตร.ฉบับนี้ จึงน่าจะทำให้ “ผบ.ตร.”อุ่นใจขึ้น แต่สำหรับ “ลูกน้อง” 2 แสนกว่านาย ต้องบอกว่า”เสียวสันหลัง”กันทั้งกรมปทุมวัน