xs
xsm
sm
md
lg

ปอท.ร่วมธนาคารรณรงค์ป้องประชาชนเป็นเหยื่อถูกหลอกโอนเงิน เผย 3 เดือนสูญ 20 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ตำรวจ ปอท.ร่วมผู้แทนธนาคารแถลงข่าวโครงการคาถากันภัยผู้ใช้อีเมลและมนุษย์เฟซบุ๊ก “ห้ามมึน ห้ามซื่อ ห้ามขี้เกียจ” รณรงค์ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เผย 3 เดือนพบผู้เสียหายถูกหลอกโอนเงินสูญกว่า 20 ล้านบาท

วันนี้ (23 มิ.ย.) เวลา 10.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น โฮเทล พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผบก.ปอท. พร้อมด้วย พ.ต.ท.อมรชัย ลีลาขจรจิตร รอง ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี บก.ปอท. พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ศิลปสุข สว.กก1 บก.ปอท. และ ผู้แทนจากทุกธนาคาร ร่วมแถลงข่าว “คาถากันภัยผู้ใช้อีเมลและมนุษย์เฟซบุ๊ก : ห้ามมึน ห้ามซื่อ ห้ามขี้เกียจ” ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนและข้าราชการตำรวจในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อให้ความรู้ผู้ใช้งานอีเมลและเฟซบุ๊กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ พร้อมสร้างความร่วมมือกับธนาคารต่างๆ ในการป้องกันประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อในการโอนเงิน

พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์เปิดเผยว่า เนื่องด้วยใน 3 เดือนที่ผ่านมาเกิดคดีแฮกเฟซบุ๊ก และอีเมลเป็นจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 20 ล้านบาท โดยการแฮกเฟซบุ๊กของคนร้ายเพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินซึ่งมี 3 วิธีการ คือ 1. เดาจากตัวเลขวันเดือนปีเกิด หรือเบอร์โทรศัพท์ 2. สร้างหน้าเพจปลอมแล้วส่งมาหลอกให้เราใส่พาสเวิร์ด อ้างว่าพาสเวิร์ดของเรากำลังหมดอายุ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยขอให้คลิกไปตามลิงก์ที่ให้เปลี่ยนพาสเวิร์ดใหม่ และ 3. คนร้ายจะปล่อยสปายแวร์เข้าเครื่องของเรา โดยที่สปายแวร์จะทำให้คนร้ายสามารถมอนิเตอร์ทุกอย่างที่เราทำงานบนคอมพิวเตอร์และสามารถเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเราได้เท่ากับแปลว่าคนร้ายรับรู้พาสเวิร์ดของเราได้ทันที ด้วยเหตุนี้ บก.ปอท.ขอเตือนประชาชนว่าห้ามตั้ง พาสเวิร์ดเป็นหมายเลขโดยเด็ดขาด

พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์กล่าวอีกว่า สาเหตุที่คนร้ายสามารถแฮกเฟซบุ๊กได้ไม่ยากเพราะปัจจุบันมีวิธีต่างๆ มากมายที่สามารถล่วงรู้พาสเวิร์ดของแต่ละคนได้ซึ่งมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก แต่ก็มีวิธีป้องกันเนื่องจากเฟซบุ๊กได้เพิ่มระบบความปลอดภัยเพิ่มขึ้นทำให้ผู้อื่นไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กของเราได้ ดังนี้ 1. ต้องใช้ระบบความปลอดภัยอีกชนิด คือ (ระบบ OTP) เพียงแค่เข้าเฟซบุ๊กแล้วเปิดการใช้งานระบบนี้ก็จะป้องกันไม่ให้คนร้ายเข้าเฟซบุ๊กของเราได้ และ 2. หากมีเพื่อนเฟซบุ๊กมาให้เราโอนเงินไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร เราต้องโทร.เช็กเจ้าตัวโดยตรงทุกครั้งว่าข้อความที่ส่งมาเป็นของเจ้าตัวจริงหรือไม่ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าข้อความดังกล่าวถูกส่งมาจากคนร้ายที่แฮกเฟซบุ๊กเพื่อนเราไป เพียงแค่เสียเวลาโทร.เช็กนิดเดียวดีกว่าต้องเสียสตางค์ให้คนร้ายไปฟรีๆ

พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์กล่าวต่อว่า สำหรับบริษัทที่ต้องติดต่อซื้อขายกับบริษัทต่างประเทศทางอีเมลนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปตั้งค่าความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้โจรสามารถเข้าถึงอีเมลบริษัทคุณได้เช่นกัน เพราะหากคนร้ายเอาพาสเวิร์ดเจาะเข้าอีเมลได้ คนร้ายจะเฝ้าอ่านการโต้ตอบอีเมลกับบริษัทอื่นๆ รอจนกว่ามีการโอนเงินค่าสินค้า จังหวะนั้นคนร้ายจะสวมรอยหลอกให้โอนเงิน ซึ่งจะแจ้งคุณว่าบริษัทได้มีการเปลี่ยนบัญชีโอนเงินเป็นบัญชีใหม่ จึงขอฝากเตือนบริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องติดต่อคู่ค้าทางอีเมลให้จำไว้ 2 ข้อ คือ 1. บริษัทจะใช้แค่พาสเวิร์ดในการเข้าอีเมลไม่ได้ แต่ต้องใช้ระบบความปลอดภัยอีกหนึ่งอย่างร่วมด้วย เช่น GMAIL, HOTMAIL หรือ YAHOO ซึ่งจะส่งมาให้ทางข้อความมือถือเพื่อใส่ควบคู่กับพาสเวิร์ดไปด้วย นับเป็นระบบความปลอดภัย 2 ชั้น และ 2. หากจู่ๆ บริษัทที่เคยส่งสินค้ามีอีเมลแจ้งมาว่าบริษัทได้เปลี่ยนเลขบัญชีการโอนเงินแล้วบอกให้เราโอนไปยังบัญชีใหม่ อย่าเพิ่งเชื่อเด็ดขาด ให้ลองโทร.ไปสอบถามบริษัทดังกล่าวว่าใช่อีเมลจริงหรือไม่ เพราะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอก

“คนร้ายมักใช้วิธีหลอกเหยื่อซึ่งเป็นผู้ประกอบการ โดยวิธีอีเมลสแกมนั้นเนื่องจากแฮกเกอร์ไม่สามารถเจาะระบบการโอนเงินของธนาคารได้จึงหันมาใช้วิธีการเจาะไปยังตัวบุคคลที่โอนเงินแทน ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลสูงสุดในการป้องกันผู้ประกอบการจากการตกเป็นเหยื่ออีเมลสแกม โดย บก.ปอท.ได้ร่วมมือกับทุกธนาคารเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและสามารถไปแนะนำลูกค้าเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ อย่างไรก็ตาม บก.ปอท. และทุกธนาคารเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะสามารถป้องกันผู้ประกอบการและยกระดับธนาคารในการบริการดูแลลูกค้าต่อไป” ผบก.ปอท.กล่าว

ด้านนายชินาวุธ จารุโยธิน ผู้บริหารบริษัท เอบีเอ็ม จำกัด ในประเทศกัมพูชา ผู้เสียหายจากการถูกหลอกโอนเงิน เปิดเผยว่า บริษัทรับออกแบบตกแต่งภายในที่ประเทศกัมพูชา และจะสั่งซื้อสินค้ากับบริษัทเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งในประเทศไทยผ่านทางอีเมลมาตลอด โดยช่วงเกิดเหตุเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาบริษัทได้คอมเฟิร์มอีเมลกับบริษัทคู่ค้า จากนั้นทางเราได้โอนเงินไปให้ก่อนได้รับสินค้า แต่ผู้ผลิตกลับไม่ได้รับเงินจึงเกิดความสงสัยและได้โทรศัพท์สอบถามพร้อมส่งหลักฐานไปให้บริษัทคู่ค้าให้ดู รวมทั้งตนได้ตรวจสอบอีเมลพบว่ามีหนึ่งอีเมลของบริษัทคู่ค้าที่มีการเติมอักษรเข้าไปหนึ่งตัวซึ่งตนไม่ทันสังเกตทำให้รู้ว่าถูกหลอกจึงมาแจ้งความที่ บก.ปอท. ก่อนที่ทาง บก.ปอท.ทำหนังสือให้ตนไปยื่นที่ธนาคารบัญชีของคนร้ายให้บล็อกจำนวนเงินดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทตนโดนหลอกโอนเงินมาแล้ว 3 ครั้ง มูลค่าเกือบ 3 ล้านบาท และขณะนี้ติดตามเงินมาได้แล้วประมาณ 7 แสนบาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น