xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอแจงจับ “ธัมมชโย” ทำตามขั้นตอน กม. แนะลูกศิษย์ผิดเข้าข่ายแจ้งเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (แฟ้มภาพ)
MGR Online - อธิบดีดีเอสไอระบุออกหมายจับ “ธัมมชโย” ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง พร้อมแจง 6 ข้อ “มีความผิดจริง-เจอจับได้ทันที” ข้อดำเนินการ ส่วนกลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกายเคลื่อนไหวแจ้งเท็จอาจเข้าข่ายความผิดละเมิดสิทธิเจ้าพนักงาน

วันนี้ (19 พ.ค.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีรายงานข่าวเปิดเผยถึงขั้นตอนกรณีการออกหมายจับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ว่า สำหรับการดำเนินการของคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยดำเนินการ 6 ข้อ คือ 1. สืบเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน และประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีทั้งพนักงานอัยการ และที่ปรึกษาคดีพิเศษ หลังจากได้รับเรื่องร้องทุกข์ กระทั่งนำไปสู่การดำเนินคดี เนื่องจากมีพยานหลักฐานและนำไปสู่การออกหมายจับดังกล่าว

2. เมื่อนำข้อเท็จจริงที่ได้ไปเสนอศาล ซึ่งศาลได้วิเคราะห์แล้วน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะกระทำผิดจริง ศาลจึงพิจารณาอนุมัติออกหมายจับดังกล่าวให้ 3. การที่กลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกายมีการนำข้อมูลไปเผยแพร่สู่สาธารณชน หรือปลุกระดม โดยทำให้เชื่อว่าพระธัมมชโยไม่ได้ผิดจริง แสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกล่าวหาคณะพนักงานสอบสวน และศาล เพราะการที่ศาลอนุมัติหมายจับนั้นได้พิจารณาจากพยานหลักฐานอย่างถี่ถ้วนแล้ว ดังนั้น ศาลอาจพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาลได้

4. หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่พบพระธัมมชโยก็สามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที เนื่องจากพระธัมมชโยถูกศาลออกหมายจับแล้ว ทั้งนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองพบและไม่ดำเนินการจับกุม อาจเข้าข่ายผิดมาตรา 157 ได้ 5. การที่กลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกายมีการระดมพลเดินทางไปร้องเรียนยังสถานที่ต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดต่างๆ นั้น อาจเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล และ 6. การให้ร้ายเท็จ หรือกล่าวเท็จที่ไปแจ้งต่อ ป.ป.ช. หรือไปแจ้งตามสถานที่ต่างๆ ว่าคณะพนักงานสอบสวนได้กลั่นแกล้ง หรือกระทำการโดยมิชอบตามมาตรา 157 หรือมาตรา 200 กลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจเป็นการกล่าวเท็จต่อเจ้าพนักงาน และเข้าข่ายละเมิดเจ้าพนักงาน อาจถูกฟ้องได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติยศ และองค์กร

 

กำลังโหลดความคิดเห็น