MGR Online - ชาวประมงกว่า 200 รายเข้ารับทราบข้อหาไม่ติดตั้งระบบติดตาม (วีเอ็มเอส) ด้านรอง ผบช.น.ระบุไม่ดำเนินการล่าช้า สอบกว่าหมื่นลำแจ้งดำเนินคดีทั้งหมดกว่า 2,700 ราย หากเรียกครั้งที่ 2 ไม่มาจ่อออกหมายจับ ส่วนบางรายที่อ้างว่าติดตั้งแล้วแต่นำเรือไปซ่อม ยันพิจารณาตามข้อเท็จจริงและให้ความยุติธรรม หากถูก กม.ก็ไม่สั่งฟ้อง
วันนี้ (10 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการกิจการเรือประมงกว่า 200 ราย เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน บช.น. คดีกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำประมง ภายหลังจากที่กรมประมงได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการกิจการเรือประมงกว่า 2,700 รายที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 22 จังหวัด ที่ สน.บางเขน ภายหลังใช้เครื่องมือตรวจสอบพบว่าเรือประมงดังกล่าวไม่ได้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) และที่ติดตั้งระบบดังกล่าวแต่ยังไม่ได้มีการเปิดใช้ ตั้งแต่เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2559 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ รอง ผบช.น. ฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำประมง กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรือประมงที่มีติดตั้งระบบติดตามเรือประมง หรือระบบ VMS ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป โดยวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนี้เพื่อให้สามารถทราบจุดของเรือประมงทั้งหมดอยู่บริเวณใดบ้าง หากไม่ติดตั้งระบบดังกล่าวก็จะไม่สามารถติดตามเรือประมงที่อาจจะกระทำความผิดกฎหมายได้ การคำนวณเรือประมงในน่านน้ำก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อกรมประมงใช้เครื่องมือตรวจสอบพบก็มาแจ้งความร้องทุกข์ ทางพนักงานสอบสวนจึงเรียกผู้ที่กระทำความผิดมารับทราบข้อกล่าวหากรณีไม่ติดตั้งระบบดังกล่าว คล้ายกับการไม่ติดตั้งกระจกมองข้างของรถยนต์ แต่ก็จะพิจารณาทีละกรณีไปว่าไม่ดำเนินการดังกล่าวเนื่องจากสาเหตุใด หากไม่ได้มีการกระทำความผิดก็จะดำเนินการตรวจสอบและทำการสั่งไม่ฟ้องให้ อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์เพื่อต้องการ 1. สร้างความจริงให้ปรากฏ 2. พิจารณาตามข้อกฎหมายหากไม่ผิดก็สั่งไม่ฟ้อง โดยจะให้ความยุติธรรมแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินการตามประกาศดังกล่าวค่อนข้างล่าช้า หลังออกมาตั้งแต่ประมาณ เม.ย.ปีที่แล้ว พล.ต.ต.จารุวัฒน์กล่าวว่า เนื่องจากประกาศดังกล่าวออกมาจากตั้งแต่เดือน เม.ย. 2558 มีระยะเวลาให้ไปดำเนินการช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งค่อนข้างที่จะนาน ถามว่าเรือเป็น 10,000 ลำสามารถติดตั้งได้ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย หากออกหมายเรียก 2 ครั้งไม่มาก็ดำเนินการออกหมายจับ โดยเบื้องต้นออกหมายเรียกแจ้งดำเนินคดีก่อนทั้งหมด 2,700 ราย มีหลักฐานชัดเจน ส่วนชาวประมงบางรายที่ติดตั้งแล้วแต่ได้นำเรือไปจอดซ่อมนั้น กรณีดังกล่าวไม่มีปัญหา ทางพนักงานสอบสวนจะเชิญมาสอบปากคำดูรายละเอียดพิจารณาแต่ละกรณีไป ยืนยันว่าแล้วพิจารณาข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ผิดว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายก็จะพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง เอารายละเอียดของคดีเป็นที่ตั้งและนำข้อกฎหมายมาปรับใช้ต่อไป
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มชาวประมงที่มาในวันนี้เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาของกรมประมงที่แจ้งความดำเนินคดีต่อพี่น้องชาวประมง วันนี้มีประมาณ 200 คดี ในข้อกล่าวหาไม่ติดตั้งระบบวีเอ็มเอส (VMS) ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 10 ข้อ 6 ซึ่งวีเอ็มเอสคือระบบติดตามเรือประมง หลักการคือการติดตั้งวีเอ็มเอสนั้นเกี่ยวข้องกับการที่เรือประมงจะออกไปทำการประมงอาจจะมีการฝ่าฝืนกฎหมายไทย หรืออาจจะไปฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศคือการไปลักลอบทำประมงในน่านน้ำเขา นี่ก็คือหลักการของการติดตั้งวีเอ็มเอส แต่ที่ไม่ถูกหลักการก็คือเรือประมงที่ไม่ได้ออกทำการประมง และจะมาให้เขาติดทำไมในเมื่อเขาไม่ได้ออกทำการประมงและก็จอดอยู่ที่ท่า สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา แล้วในคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ 10 ข้อ 6 ก็ไม่ได้เขียนเลยว่าเรือประมงทุกลำที่จะต้องติด เขียนแค่ว่าเรือประมงที่ใช้ในการทำประมง และยังรวมถึงตรงนี้อีกว่าเรือประมงขณะที่อยู่ในทะเล ก็แสดงชัดว่าเป็นเรือประมงที่ต้องออกไปทำประมงถึงจะติดตั้งระบบวีเอ็มเอส
นายมงคลกล่าวต่อว่า ตามหลักแล้วไม่ใช่เรือประมงทุกลำ ถ้าเรือประมงที่ไม่ทำการประมงจะติดไปทำไม ซึ่งในวันนี้ที่มามี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ประกอบการเรือที่ถูกยกเลิกไม่ให้ออกทำการประมงตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 10 ข้อ 8 ระบุว่าห้ามเจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเรือนำเรือยินยอมให้บุคคลใดๆ กระทำการดังต่อไปนี้ในเรือของตน 1. ครอบครองเครื่องมือทำการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตในเรือประมง 2. นำเรือประมงซึ่งมีเครื่องมือทำการประมงที่ไม่ถูกต้องตรงกับเครื่องมือที่ได้รับอาชญาบัตร ออกจากท่าเทียบเรือไปทำการประมง ซึ่งเรือเหล่านี้ออกไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 58 แล้ว อีกกลุ่มคือกลุ่มที่ได้ใบอนุญาตเมื่อวันที่ 1 เมษายน หลังจากได้ก็เพิ่งจะเริ่มออกซ่อมเรือ มีการติดวีเอ็มเอสแต่ยังไม่ได้เปิดสัญญาณ ก็เป็นกรณีที่ว่าเขาติด เขาไม่ได้ฝ่าฝืน แต่สัญญาณเขายังไม่ได้เปิด ก็ควรให้อภัยเขา แนะนำเขาว่าคุณต้องรีบเปิดภายในกี่วัน ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการพูดคุยหรือประชาสัมพันธ์ต่อผู้ประกอบการ เรามีสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ถ้าคุณประชาสัมพันธ์ผ่านเรา แล้วชาวประมงไม่ทำ แล้วคุณบังคับใช้กฎหมายเราจะออกมาเต้นทำไม แต่คุณไม่เคยบอกเราเลยว่าชาวประมงจะต้องทำอย่างไรบ้าง แม้แต่เจ้าหน้าที่คุณเองในท้องที่ต่างๆ ยังไม่รู้เลย แล้วชาวประมงจะไปรู้ได้อย่างไร
นายมงคลกล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้มีเรือประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีนี้ประมาณ 2 พันกว่าลำจากทั่วประเทศ โดยในวันนี้ที่มาพบพนักงานสอบสวนเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี ชุมพร ระนอง ส่วนตนมาในฐานะผู้ประสานงาน เมื่อช่วงเช้าได้มีการประชุมในสหกรณ์ประมงแม่กลองกับสหกรณ์ประมงสมุทรสงคราม โดยได้ตั้งทนาย 3 คนเพื่อเข้ามาช่วยพี่น้องประมงในเรื่องของคดี เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ ในส่วนของอัตราโทษในความผิดดังกล่าว ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 10 ข้อ 18 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ