xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่ค้าริมหาดสุรินทร์ จ.ภูเก็ต ร้อง ยธ.หลัง อบต.-อบจ.จัดระเบียบชายหาด ไร้ที่ทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ผู้ประกอบการร้านค้าบ้านหาดสุรินทร์ จ.ภูเก็ต ร้องทุกข์ ยธ. หลัง อบต.-อบจ.สั่งรื้อถอนขนย้ายสิ่งของเพื่อจัดระเบียบชายหาด ไม่จัดพื้นที่สำรองให้ด้วย เผยเดือดร้อนหนักไม่มีที่ทำกิน

วันนี้ (7 เม.ย.) เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) น.ส.วลัยลักษณ์ บัวศรี ผู้ประสานงานชมรมผู้ประกอบการร้านค้าบ้านหาดสุรินทร์ ม.3 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด ประมาณ 40 คน เดินทางยื่นเรื่องร้องเรียนหลังจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชิงทะเล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต อาศัยคำสั่งเรื่องการจัดระเบียบชายหาดให้ผู้ประกอบการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของออกจากบริเวณหน้าหาดสุรินทร์ทั้งหมดภายในวันที่ 15 เม.ย.นี้ แต่เมื่อผู้ประกอบการซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ขอผ่อนผันกลับถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์ จึงต้องเดินทางมาเพื่อขอความเป็นธรรม

น.ส.วลัยลักษณ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ทาง อบต.เชิงทะเลมีการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการจัดระเบียบชายหาดสุรินทร์ ผลการประชุมได้การมีเปลี่ยนแปลงระยะเวลาให้ผู้ประกอบการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของออกจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนกำหนด จากเดิมวันที่ 20 เม.ย. เลื่อนมาเป็นวันที่ 15 เม.ย.ทันที โดยพวกเราไม่สามารถดำเนินการได้ทันเนื่องจากแต่ละร้านค้ามีพนักงานลูกจ้างและคนในครอบครัวอาศัยอยู่จำนวนมาก

น.ส.วลัยลักษณ์กล่าวอีกว่า บริเวณหาดสุรินทร์มีร้านค้าทั้งหมด 40 ร้าน เป็นร้านที่ อบจ.ภูเก็ตจัดสร้างให้เมื่อปี 2538 จำนวน 20 ร้าน และ ทาง อบต.เชิงทะเลเป็นผู้สร้างขึ้นมาอีก 20 ร้าน เมื่อปี 2548 โดยเก็บค่าเช่าร้านเป็นรายปี ปีละ 5,000 บาท ทั้งนี้ พวกเราต้องการขอขยายระยะเวลาการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของเพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้ ร้านค้าทั้งหมดทางราชการเป็นผู้จัดสร้างขึ้นให้ ไม่ใช่ร้านค้าแผงลอย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าของเดิม เป็นบุคคลที่มีอายุมากและค้าขายมานานแล้ว ซึ่งในวันนี้ตนก็เดินทางมาร้องเรียนแทนคุณพ่อด้วย

“ดิฉันเดินทางไปร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ก็ไม่ได้ผล โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการรื้อถือพื้นที่สาธารณะทั้งหมด และชาวบ้านต้องไม่ควรเดือดร้อนด้วยตามที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุไว้ แต่สิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่มันไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม พวกเราไม่ได้เรียกร้องอะไรมากขอแค่ให้ชาวบ้านมีที่ทำกินเหมือนเดิมและอยากทราบด้วยว่าทำไมไม่มีการจัดหาพื้นที่สำรองให้ชาวบ้านไว้ก่อนหน้านี้” น.ส.วลัยลักษณ์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น