xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.ชะลอฟ้อง ตัดตอนคดีไม่ขึ้นสู่ศาล หวั่นกระทบคดีฮั้ว-ทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

รัชดาภิเษก นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม
MGR Online - ศาลไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.ชะลอฟ้อง เหตุตัดตอนคดีไม่ขึ้นสู่ศาล ชี้ขัดหลักสิทธิมนุษยชน หวั่นกระทบถึงคดีฮั้ว-ทุจริต

วานนี้ (29 มี.ค.) ที่ห้องประชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าตามที่ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้อง พ.ศ. ... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญที่กำหนดให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาและการชะลอการฟ้องมาใช้เพื่อทำให้คดีอาญายุติไปโดยไม่ต้องมีการฟ้องมาใช้เพื่อทำให้คดีอาญายุติไปโดยไม่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลในความผิดอาญาประเภทคดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปีนั้น ได้รับแจ้งว่า ประธานศาลฎีกาแสดงความรู้สึกกังวลใจว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีหลักการที่ขัดต่อหลักการที่สำคัญของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และส่งผลกระทบต่อกระบวนการนยุติธรรมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีการใช้มาตรการหลายประการกับผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด เช่น การกำหนดให้คุมประพฤติและการทำงานบริการสังคมต่างๆ เสมือนหนึ่งว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ถูกตัดสินแล้วว่ากระทำความผิด ทั้งๆ ที่ไม่มีคำพิพากษาของศาลที่แสดงว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด

นายสืบพงษ์กล่าวต่อว่า จึงเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลว่าเป็นผู้กระทำความผิด การใช้อำนาจในการสั่งชะลอการฟ้องตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังเป็นมาตรการที่ปราศจากกระบวนการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกผู้ใช้อำนาจ ทำให้ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่การใช้อำนาจรัฐควรจะต้องมีลักษณะสำคัญที่โปร่งใสต่อสาธารณชนและสามารถตรวจสอบจากองค์กรภายนอกได้ นอกจากนั้นยังมีการตัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางศาลของผู้เสียหาย เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่ประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลของตนและมีบทบังคับห้ามมิให้ศาลดำเนินการกระบวนพิจารณาคดีต่อไป แม้กระทั่งในกรณีที่ผู้เสียหายประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลของตน และนำคดีมาฟ้องต่อศาลแล้วก็ตาม การที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ระยะเวลาและอายุความในการดำเนินการบวนพิจารณาคดีอาญาอาจขยายไปได้ จนแทบไม่มีข้อจำกัด หากมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องยังจะทำให้พยานหลักฐานที่สำคัญสูญหายหรือเสียหายไปจนไม่สามารถใช้ในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหากมีความจำเป็นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลต่อไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาทบทวนบทบัญญัติตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าสมควรที่จะให้มีกฎหมายลักษณะนี้หรือไม่ เพื่อที่จะทำให้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะออกมาสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน และไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน ซึ่งประธานศาลฎีกาได้มีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแสดงข้อคิดเห็นและความกังวลใจดังกล่าวแล้ว

นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ประธานศาลฎีกามีความกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีหลักการที่ขัดต่อหลักการที่สำคัญของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และส่งผลกระทบต่อกระบวนการอำนวยความยุติธรรมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีการใช้มาตรการกับผู้ต้องหา อาทิ ให้คุมประพฤติและทำงานบริการสังคมต่างๆ เสมือนว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ถูกตัดสินแล้วว่ากระทำผิดอาญา ทั้งที่ไม่มีคำพิพากษาของศาล และเห็นว่าการใช้อำนาจในการสั่งชะลอการฟ้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกนั้น ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่อำนาจรัฐจะต้องโปร่งใส และมีการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกได้

รวมไปถึงเมื่อมีการไกล่เกลี่ย หรือชะลอฟ้อง ก็จะไปตัดสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางศาลของผู้เสียหาย เพราะมีบทบังคับห้ามศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อ แม้ผู้เสียหายจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแล้วก็ตาม จึงเห็นว่าควรทบทวนบทบัญญัติตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใหม่ว่าสมควรมีกฎหมายลักษณะนี้หรือไม่ เพื่อให้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะออกมานั้นมีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม และไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชนซึ่งประธานศาลฎีกาได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยได้แสดงข้อคิดเห็นและความกังวลในเรื่องนี้แล้ว
นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักงานประธานธานศาลฎีกา
ด้านนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักงานประธานศาลฎีกากล่าวว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญว่า หากเจ้าหน้าที่สั่งให้คู่ความไกล่เกลี่ย หรือชะลอฟ้อง แม้คดีจะเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลแล้วก็ต้องยุติลง รวมถึงการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนด้วยซึ่งจะส่งผลให้พยานหลักฐานต่างๆ ในคดีต้องยุติลงด้วย และหากนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้จริง ผู้ต้องหาอาจเข้าสู่กระบวนการนี้เพื่อถ่วงเวลาให้พยานหลักฐานสูญหายไป ส่วนที่ระบุว่าเป็นการลดจำนวนคดีที่จะเข้าสู่ศาลนั้น เห็นว่าควรคิดหาวิธีการป้องกันไม่ให้คนกระทำผิดดีกว่า ไม่ใช่กระทำผิดแล้วจะตัดตอนไม่ให้กระบวนการศาลเข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งจะกระทบต่อสังคมและประชาชน จะทำให้ไม่มีการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกัน ทั้งนี้เพราะฝ่ายบริหารเป็นผู้จับกุม ตั้งข้อกล่าวหา และตัดสินใจสั่งชะลอฟ้องคดีอาญาโดยไม่ให้ศาลเข้าไปตรวจสอบคดีอาญาที่มีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี ซึ่งอาจจะรวมไปถึงคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ด้วย เช่น คดีฮั้วประมูล และคดีทุจริต จากการตรวจสอบพบว่าแม้หลายประเทศมีการใช้พระราชบัญญัติลักษณะเดียวกันนี้ แต่ก็ใช้อย่างจำกัด และกระบวนการสุดท้ายก่อนมีการคุมประพฤติผู้ต้องหาก็จะต้องเสนอไปที่ศาลให้ดำเนินการตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น