MGR Online - อดีตนักโทษยาเสพติดขอบคุณ รมว.ยธ.ให้โอกาสกลับสู่สังคม ระบุไม่อายคนประณาม ขอถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในภาพนักโทษ
จากกรณีนายวิโรจน์ แซ่หว้า อายุ 36 ปี ชาวม้ง จ.เพชรบูรณ์ เป็นนักโทษค้ายาเสพติด ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่สารภาพเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาวันที่ 29 ส.ค. 2553 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ระหว่างต้องโทษทำความดีจนได้รับพระราชทานอภัยโทษ 6 ครั้ง รวมระยะเวลาที่ต้องโทษจำคุกไปแล้ว 15 ปี 4 เดือน 4 วัน จากนั้นได้รับการพักโทษ ปล่อยตัวกลับสู่ครอบครัวเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 ก่อนเจ้าตัวตัดสินใจเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อลงนามถวายพระพรแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยช่วงระยะเวลาที่ได้รับการพักโทษนายวิโรจน์ต้องเข้ามาอยู่ในความดูแลของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาหล่มสัก ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2559 ถึงวันที่ 19 ก.พ. 2564 เป็นระยะเวลา 5 ปีกว่า
วันนี้ (23 มี.ค.) ชั้น 2 ห้องรับรอง กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายวิโรจน์ แซ่หว้า เดินทางเข้าพบ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เพื่อแสดงความขอบคุณในการได้รับโอกาสให้ได้รับการพักลงโทษ โดยนายวิโรจน์กล่าวว่า ตนทำผิดกฎหมายบ้านเมืองสมควรได้รับโทษประหารชีวิต แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ตนได้ออกจากเรือนจำจึงตั้งใจเดินเท้ากว่า 600 กิโลเมตรเข้ากรุงเทพฯ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับพระองค์เมื่อเสด็จไปทุกที่ทุกแห่งถามหาคนยากจน ถ้าไม่มีในหลวง โทษจำคุกเกิน 25 ปี ก็ไม่มีโอกาสออกจากเรือนจำเนื่องจากอายุมากและแก่ตายในคุก
“ผมดูจากข่าวโทรทัศน์เห็นบุคคลในสังคมทุกชนชั้นเข้ามาถวายพระพระในหลวงจำนวนมาก แต่ไม่มีภาพนักโทษเข้ามาถวายพระพร อาจเป็นเพราะว่าอายสังคมกลัวถูกประณาม แต่ผมไม่กลัวถูกประณาม รวมทั้ง จะขอเป็นภาพนักโทษเดินไปถวายพระพรในหลวงเอง” นายวิโรจน์กล่าว
ด้าน พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า นายวิโรจน์เป็นหนึ่งคนที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นตัวแทนนักโทษที่ทำความดีจนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ก็ดีใจด้วย หลังจากนี้สังคมพร้อมอ้าแขนต้อนรับและสังคมให้โอกาส ถือว่าเป็นสัญลักษณ์กระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ นายวิโรจน์รู้สึกสำนึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระเมตตาให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีอีกครั้ง จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจเต็มร้อยที่จะเดินเท้าจากเรือนจำกลางพิษณุโลก ตั้งแต่วันปล่อยตัว (10 มี.ค. 59) จากนั้นไปรายงานตัวต่อ พนักงานคุมประพฤติของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาหล่มสัก และเข้ากรุงเทพมหานคร ด้วยระยะทาง 635 กิโลเมตร เพื่อเข้าร่วมลงนามถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตลอดทางการเดินเท้าได้มีสำนักงานคุมประพฤติและอาสาสมัครคุมประพฤติในพื้นที่ต่างๆ ได้ให้การดูแลช่วยเหลือ และให้กำลังใจตลอดเส้นทาง