MGR Online - “กรมคุมประพฤติ” เป็นประธานจัดงานครบรอบ 24 ปี พร้อมมอบโล่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ระบุผู้ต้องโทษที่ถูกจองจำ ส่วนใหญ่กระทำผิดในคดียาเสพติดกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ปรับยุทธศาสตร์ทำให้กรมราชทัณฑ์เล็กลง แต่พัฒนางานคุมประพฤติให้ใหญ่ขึ้น
วันนี้ (15 มี.ค.) เวลา 09.30 น. กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นประธานจัดงานครบรอบ 24 ปี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมคุมประพฤติ ประจำปี พ.ศ. 2559 ซึ่งมีพิธีสงฆ์และพิธีมอบโล่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2558 กล่าวเปิดเผยถึงภารกิจของกรมคุมประพฤติตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นการทำงานเชิงรุกและเป็นรูปธรรม 6 ข้อว่า ในกระทรวงยุติธรรมมี 3 กรมที่ดูแลเกี่ยวกับผู้กระทำผิด โดยมีกรมราชทัณฑ์เป็นเรือนจำสำหรับควบคุมนักโทษผู้ใหญ่ กรมพินิจเป็นคุกเด็กดูแลเยาวชน และกรมคุมประพฤติเป็นคุกที่ไม่มีรั้วหรือคุกชุมชนซึ่งผู้กระทำผิดต้องโทษอาญาไม่เกิน 3 ปี หรือรอการพักลงโทษของกระทรวงยุติธรรม โดยจะมีผู้กระทำผิดเข้ารับการดูแลของกรมคุมประพฤติประมาณ 330,000-350,000 คนต่อปี
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์กล่าวอีกว่า สำหรับ 6 ข้อตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม 1. การนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มาใช้ในการคุมประพฤติ โดยผู้กระทำผิดยังสามารถชีวิตในสังคมได้ตามปกติ เช่น เรียนหนังสือ ทำงานหาเลี้ยงชีพ และใช้เวลาอยู่กับครอบครัว แต่ไม่สามารถออกนอกเส้นทางกำหนดได้ อีกทั้ง ไม่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำหรือทัณฑสถาน นอกจากนี้ กรมคุมประพฤติเคยนำร่องใช้ (EM) เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน แต่เป็นเพียงระบบเช่า จำนวน 3,000 เครื่อง และปีนี้กำลังรองบประมาณส่วนกลาง 18 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อ (EM) จำนวน 400 เครื่อง ซึ่งจะช่วยลดความแออัดผู้กระทำผิดภายในเรือนจำ
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า 2. บ้านกึ่งวิธี เพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราวในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจแก่ผู้กระทำผิดและผู้บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ไม่มีที่พักอาศัยหรือยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ อาทิ ยังไม่มีงานทำ ยังเลิกยาเสพติดไม่ขาด ปัจจุบันมีบ้านกึ่งวิธีที่ได้รับรองจำนวน 81 แห่ง 62 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งได้ใช้สถานที่ประกอบศาสนาเป็นที่พักของบุคคลกลุ่มนี้ เช่น วัด โบสถ์ มัสยิด สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้กระทำผิดที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติที่มีความสมัครใจและผู้กระทำผิดที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ บ้านกึ่งวิธีจะรับเข้ามาดูแลพร้อมสร้างอาชีพ ทั้งนี้จะดำเนินการขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปี พ.ศ. 2559
“3. หน่วยกึ่งวิธี หรือสถานที่เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย โดยทางกรมคุมประพฤติจะส่งบุคลากรตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติไปประจำหน่วยกึ่งถาวรทุกแห่งเพื่อประสานการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีสถานที่เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 84 แห่ง ครอบคลุม 46 จังหวัด และมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มอีก 20 แห่งภายในปี พ.ศ. 2560” อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าว
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์กล่าวเพิ่มว่า 4. การใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) เพื่อกดดันผู้ที่ผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้กลับเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ โดยมีการทำข้อตกลงกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อกลั่นกรองผู้ที่อยู่ในระบบงานคุมประพฤติที่ยังไม่พ้นการควบคุมเข้ารับการอุปสมบท และกรมการขนส่ง ห้ามผู้ที่หนีการคุมประพฤติไม่สามารถขออนุญาตต่อใบขับขี่ได้ 5.การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. ... เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนาจหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาที่ผ่านมามีผู้กระทำผิดเงื่อนไขหลบหนีไม่ยอมมารายงานตัวและถ้ากฎหมายผ่านความเห็นชอบจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตาม ตรวจค้นผู้ไม่ทำตามกฎมารับโทษ โดยปีที่ผ่านมามีบุคคลที่ไม่ยอมรายงานตัว 53,000 คน
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เปิดเผยว่า 6.การบูรณาการอาสาสมัครกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้มีการบูรณาการทำงานของอาสาสมัครคุมประพฤติร่วมกับอาสาสมัครอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบายสร้างอาสาสมัครคุมประพฤติครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศเพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจของกรมคุมประพฤติไปสู่เป้าหมายหลัก คือ “คืนคนดีสู่สังคม” โดยปัจจุบันมีกรมคุมประพฤติมีอาสาสมัครคุมประพฤติทั่วประเทศ 20,008 คน
“ส่วนสถิติผู้กระทำผิดเข้ารับการดูแลของกรมคุมประพฤติประมาณ 330,000-350,000 คนต่อปีนั้นแบ่งออกเป็น 1. กลุ่มรอลงอาญาไม่เกิน 3 ปี จะส่งมากรมคุมประพฤติเพื่อทำรายงานว่าเป็นบุคคลที่ควรให้อภัยหรือเป็นบุคคลอันตรายก่อนพิจารณาลงโทษ ประมาณ 100,000 ราย 2. ผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดก่อนส่งรักษาตัว กลุ่มนี้ประมาณ 20,000 คน และ 3.กลุ่มผู้ทำผิดกฎหมายได้รับโทษไปแล้วเหลือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือเป็นนักโทษชั้นดีหรือได้รับการสั่งลดโทษ ประมาณอีก 100,000 ราย ซึ่งออกจากเรือนจำก่อนกำหนดแต่ต้องมารายงานตัว” พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์กล่าว
พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวปิดท้ายว่า นโยบายของรัฐบาลโดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา จะลดโทษกลุ่มคดียาเสพติดเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะปัจจุบันผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีอยู่จำนวนกว่า 3 แสนคนนั้น เป็นผู้ต้องโทษในคดียาเสพติดจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น พล.อ.ไพบูลย์จึงมีแนวคิดว่าคุกในอนาคตจะมีไว้ขังเฉพาะนักโทษขาใหญ่ และโทษร้ายแรงเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่เหลือจะแยกให้ใช้วิธีการควบคุมพฤตินิสัยแทนโทษจองจำ โดยนำวิธีการบังคับบำบัดมาใช้ ซึ่งในอนาคตจำนวนคนที่ถูกขังในคุกจะน้อยลงทำให้งานราชทัณฑ์ลดลง แต่ขณะเดียวกันจะทำให้งานคุมประพฤติที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติจะหนักมากขึ้นแทน เพราะงานคุมประพฤติเปรียบเหมือนคุกที่อยู่ในชุมชน ดังนั้น งานยุทธศาสตร์ของกรมคุมประพฤติเราจะทำช่วยกันส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อรองรองความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะต่อไปงานราชทัณฑ์จะเล็กลง แต่ตรงกันกันข้ามงานคุมประพฤติจะใหญ่ขึ้น