MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษาให้อดีตรัฐมนตรี - ส.ส. ไทยรักไทย และ ประชาธิปัตย์ รวม 22 คน จ่ายเงินประจำตำแหน่ง - เบี้ยประชุมกว่า 22 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย คืนแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลังถูกร้องเรียนทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2544 และ กกต. ต้องสั่งจัดเลือกตั้งใหม่ มีผลให้ทั้ง 22 คน ต้องพ้นจากตำแหน่ง
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางกรรณิกา ธรรมเกษร, นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต รมช.สาธารณสุข และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพี่อไทย, น.ส.อรดี สุทธศรี, นายธวัชชัย อนามพงษ์, นายมงคล บุพศิริ, นางพิมพา จันทร์ประสงค์ อดีต รมช.คมนาคม, นายณรงค์กร ชวาลสันติ, นายไชยวัฒน์ ติณรัตน์, นางลาวัณย์ ตันติกุลพงศ์, นายกมล จิระพันธุ์วาณิช, นายดนัยฤทธิ์ หรือ ดนัยพัชร์ วัชราภรณ์, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายธีรพันธ์ วีระยุทธวัฒนะ, นายประชา หรือ กำนันเซียะ โพธิพิพิธ, นายศิริชัย ฉัตรชัยพลรัตน์, นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร, นายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์, นายประภาส วีระเสถียร, นายเกรียง กัลป์ตินันท์, นายศักดิ์ชัย จินตะเวช, นายวิทยา บันทุปา และทันตแพทย์หญิง กรองกาญจน์ วีสมหมาย ซึ่งเป็น อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่ 1 - 22 เพื่อเรียกเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนอย่างอื่น ขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส. คืนจากจำเลยทั้ง 22 คน
จากกรณีที่จำเลยทั้งหมด ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ปี 2544 แต่ กกต. ได้รับการร้องเรียนว่า จำเลยทั้งหมดดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 44 และ 45 ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2541 กกต. จึงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีผลทำให้จำเลยทั้ง 22 คน สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. นับแต่วันที่ กกต. มีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส. ของจำเลยทั้ง 22 คน รับเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนอย่างอื่น ไปจากโจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินทั้งหมดให้โจทก์
ศาลชั้นต้น พิพากษาจำเลยทั้ง 22 คนให้คืนเงินแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,561,810.93 บาท
จำเลยที่ 2 คืนเงิน 1,484,453.21 บาท
จำเลยที่ 3 คืนเงิน 1,621,052.95 บาท
จำเลยที่ 4 คืนเงิน 1,703,863.47 บาท
จำเลยที่ 5 คืนเงิน 1,615,139.87 บาท
จำเลยที่ 6 คืนเงิน 1,496,398.67 บาท
จำเลยที่ 7 คืนเงิน 1,575,882.33 บาท
จำเลยที่ 8 คืนเงิน 1,616,673.50 บาท
จำเลยที่ 9 คืนเงิน 1,539,426.60 บาท
จำเลยที่ 10 คืนเงิน 1,540,787.71 บาท
จำเลยที่ 11 คืนเงิน 1,813,958.13 บาท
จำเลยที่ 12 คืนเงิน 1,501,181.96 บาท
จำเลยที่ 13 คืนเงิน 1,674,491.24 บาท
จำเลยที่ 14 คืนเงิน 292,114.95 บาท
จำเลยที่ 15 คืนเงิน 372,164.59 บาท
จำเลยที่ 16 คืนเงิน 413,594.83 บาท
จำเลยที่ 17 คืนเงิน 320,584.71 บาท
จำเลยที่ 18 คืนเงิน 387,605.72 บาท
จำเลยที่ 19 คืนเงิน 179,493.47 บาท
จำเลยที่ 20 คืนเงิน 447,820.70 บาท
จำเลยที่ 21 คืนเงิน 1,590,035.83 บาท
จำเลยที่ 22 คืนเงิน 2,139,798.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ต่อมาจำเลยที่ 10, 11, 20, 22 ยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า “การออกจากตำแหน่งของ ส.ส. หรือ ส.ว. ภายหลังสมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือ ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและผลตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งกังกล่าว” เมื่อจำเลยที่ 10, 11, 20, 22 ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและผลตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมา รวมทั้งค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะเดินทางมาทำหน้าที่ ส.ส., เงินที่จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว และผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส. ทั้งหมด คืนให้แก่โจทก์ด้วย จึงพิพากษายืนให้จำเลยทั้ง 22 คนคืนเงินแก่โจทก์ พร้อมเอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ