xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ขึ้นศาลฯ คดีจำนำข้าว สั่งทนายซักทุกเม็ดพยานโจทก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ยิ่งลักษณ์” ไปศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานโจทก์จำนำข้าวครั้งที่ 2 วอนอย่าเหมารวมว่าผิด ต้องพิสูจน์ต่อในชั้นศาล เตรียมทนายซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ละเอียดยิบ พร้อมปฏิเสธข่าวจ้างทีมทนายต่างชาติ ยันใช้ทีมทนายเดิม เผยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากนายกฯ แล้ว 7 ฉบับ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับมา

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (17 ก.พ.) นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้นัดไต่สวนพยานโจทก์นัดที่สอง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี ถึงกรณีที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่งคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ออกมาระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ผิด แต่ผิดที่การดำเนินการ ขั้นตอนต่างๆ ว่า ส่วนตัวไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ขอกรุณาอย่าเหมารวมว่าการจำนำข้าวผิด เพราะตอนนี้อยู่ในขั้นตอนศาลที่ต้องพิสูจน์ต่อไป โดยเราได้เตรียมซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ ยืนยันว่าทีมทนายจะทำงานเต็มที่ในการเตรียมหลักฐาน

ส่วนกรณีที่ไปยื่นจดหมายขอความเป็นธรรมที่สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนตัวขอความเป็นธรรมและได้มีการยื่นหนังสือไป 7 ฉบับแล้ว แต่ยังไม่เห็นการตอบรับกลับมา เพราะตัวเองต้องเรียกร้องทุกอย่างในการรักษาสิทธิของตน อย่างไรก็ตาม ขอปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่ามีการจ้างที่ปรึกษากฎหมาย 17 คนจากสำนักงานจากต่างประเทศมาทำคดีนี้ ทีมทนายก็มีเท่าที่เห็น และใช้ทีมเดิมที่เป็นคนไทย ซึ่งทนายต่างประเทศยังไม่จำเป็น เป็นคดีในราชอาณาจักรไทย และทนายไทยก็มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงศาลได้ทักทายมวลชนที่มาให้กำลังใจขณะที่มวลชนประมาณ 300 กว่าคนตะโกนคำว่ารักยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์สู้ๆ ตลอดทางพร้อมมอบดอกกุหลาบก่อนเข้าสู่ศาลฎีกาฯ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบนาย

ในช่วงเช้าพนักงานอัยการโจทก์ ได้นำ น.ส.แน่งน้อย เจริญทวีทรัพย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเป็นนักวิชาชีพการตรวจสอบบัญชี เบิกความในประเด็นหลักการทางบัญชี สรุปว่า หลักการปิดบัญชีสามารถสรุปยอดได้เป็นช่วงๆ 3 เดือน 6 เดือน หรือจะจัดทำบ่อยแค่ไหนก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องทำภายใน 12 เดือน เพื่อให้เห็นสถานะทางการเงินของบริษัทหรือองค์กรนั้น ส่วนการปิดบัญชีภาพรวมของโครงการจำนำข้าวเปลือกที่เป็นรายการสินทรัพย์ที่มี รายจ่าย และภาระหนี้สินตามหลักเกณฑ์ทางบัญชี ยังไม่เคยทำมาก่อน มีเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรวบรวมข้อมูลบัญชีของแต่ละหน่วยงานเอง เช่น ธกส., อคส. และ อตก. จึงทำให้ไม่ทราบยอดบัญชีที่แท้จริงทั้งหมดของโครงการ เช่น ธกส.อาจลงบัญชีเฉพาะเงินที่จ่ายให้ชาวนา แต่ไม่ได้ลงบัญชีเงินที่รัฐบาลรับผิดชอบดูแล ซึ่งเป็นช่องโหว่ในการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้องและทำให้ไม่ทราบสถานะทางการเงินของโครงการ

เมื่อทนายซักค้านถึงคำสั่งของ คสช.ที่ตั้งกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว โดยให้รวบรวมข้อมูลตามความเป็นจริงนั้น หมายความว่าต้องตรวจสอบข้าวทุกโกดังทุกกระสอบใช่หรือไม่ น.ส.แน่งน้อย กล่าวว่า ตนไม่ได้ตรวจสอบ แต่ใช้ชุดข้อมูลการตรวจสอบของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ซึ่งได้ยืนยันว่าตรวจสอบไปทุกหน่วยงานแล้ว และพยานได้อ่านหลักเกณฑ์ขั้นตอนการตรวจนับ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ และรายงานสรุปผล ขณะที่การบันทึกบัญชีของอนุกรรมการปิดบัญชีก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางบัญชี ภายใต้พ.ร.บ.ทางการบัญชี พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล และเนื้อหาของพ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีหลักการเดียวกับมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีของทางภาครัฐบาล โดยเริ่มจากต้นทุนการซื้อและมูลค่าคงเหลือ ซึ่งการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2557 ได้พบมูลค่าของข้าวที่เสื่อมสภาพจากสี กลิ่น และ ดีเอ็นเอ ของข้าวกว่า 1,100 ตัวอย่าง คิดเป็นค่าเสื่อมสภาพเพิ่มขึ้นจากรอบการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท และตรวจสอบบัญชีมีข้อมูลข้าวหาย ทั้งนี้การปิดบัญชีไม่ได้นำข้อมูลจากกรมบัญชีกลางและผลการชี้วัดของสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ อาทิ รายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น และตัวเลขจีดีพีที่สูงขึ้นมาสรุปรวมด้วย เพราะเป็นเพียงตัวชี้วัดที่จับต้องไม่ได้

น.ส.แน่งน้อย ยังตอบคำถามซักค้านทนายอีกว่า ในความเห็นของนักวิชาการด้านบัญชี ผู้รับผิดชอบโครงการต้องเป็นผู้สั่งการให้มีการตรวจสอบบัญชี รวบรวมข้อมูลด้านบัญชีของโครงการ ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องการเสียภาษีอย่างเดียว แต่เป็นการแสดงสถานะทางการเงิน และการอ้างว่าโครงการยังไม่จบจึงไม่สามารถปิดบัญชีได้นั้นไม่ถูกต้อง และหลังการรัฐประหารแล้ว เข้าใจว่ารัฐบาลดังกล่าวต้องเข้ามารับผิดชอบข้าวที่เหลืออยู่ในสต๊อก แต่ไม่ทราบเรื่องการระบายข้าวของรัฐบาลว่าจะใช้วิธีระบายข้าวแบบไหน

ทั้งนี้ภายหลังไต่สวนพยานปากน.ส.แน่งน้อย เสร็จสิ้นแล้ว ในช่วงบ่ายศาลได้ไต่สวน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว พยานอัยการโจทก์ปากที่สอง ซึ่ง น.ส.สุภา เบิกความว่า ตนเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง ระหว่างดำเนินโครงการจำนำข้าว กระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือท้วงติงให้ระวังเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้หลายครั้งต่อครม. ตั้งแต่ขั้นหลักการ แต่โครงการนี้ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว กระทรวงการคลังจำเป็นต้องทำตามขั้นตอน รวมถึงการเซ็นอนุมัติโครงการที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน เมื่อดำเนินโครงการไปแล้วได้มีการนำเงินจากโครงการระบายข้าวไปใช้ในการจำนำข้าวด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์หลักเมื่อได้เงินจากการระบายข้าวมาแล้วต้องนำเงินไปใช้หนี้ให้ ธกส.และระบุว่าการใช้เงินโครงการระบายข้าวดำเนินการตามมติ ครม.แต่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับมติว่าใช้อำนาจใดดำเนินการ ขณะที่การปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2557 พบตัวเลขการใช้เงิน 878,389 ล้านบาท ซึ่งการรับเงินจำนำข้าวของชาวนาอาจจะมีส่วนที่ชาวนารับเองโดยตรง หรือผ่านผู้แทนที่ถือใบประทวน การรักษาเรื่องวินัยการเงินและการคลังของรัฐบาลจำเลย

น.ส.สุภา ยังเบิกความถึงการตรวจสอบทางบัญชีว่า เคยขอข้อมูลเกี่ยวกับการขายข้าวจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับความร่วมมือในช่วงแรก แต่ภายหลังมีการโยกย้ายคณะทำงานยกคณะ เมื่อต้องประสานขอข้อมูลจากคณะทำงานชุดใหม่ก็ได้รับการปฏิเสธอ้างว่าเป็นความลับ แต่ก็ได้พยายามหาข้อมูลจากส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องจนได้ข้อมูลที่ครบถ้วนมาพิจารณาคำนวณความเสียหาย

เมื่อทนายความจำเลยถามว่า โครงการรับจำนำข้าว ชาวนาได้ประโยชน์ใช่หรือไม่ น.ส.สุภา กล่าวว่า การรับจำนำข้าวที่แท้จริง หลักการจะคล้ายกับโรงรับจำนำของรัฐ คือรับสินค้าไว้ในราคาเพียง 60-70 % ของราคาขายในตลาด ซึ่งการจำนำข้าวที่แท้จริงต้องช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนไม่ใช่ชาวนาที่มีฐานะ หากวันใดที่ชาวนาเห็นว่าราคาข้าวในท้องตลาดสูงขึ้นกว่าราคารับจำนำก็สามารถนำเงินมาไถ่ถอนข้าวแล้วไปขายได้ราคา ไม่ใช่ลักษณะที่รัฐบาลให้ราคาสูง 15,000 บาท กว่าราคาตลาดขาย 12,000 บาท ที่เท่ากับราคาสูง 3,000 บาท หรือคิดเป็น 30 % ซึ่งเหมือนการซื้อขายข้าวมากกว่า และถ้าเป็นลักษณะที่รัฐซื้อขายข้าวเองก็อาจจะผิดต่อกฎหมาย

นอกจากนี้ ทนายจำเลยยังซักถามพยานถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียในการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว เพราะมีการแต่งตั้งพยานเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งน.ส.สุภา ชี้แจงว่า การแต่งตั้งเป็นไปตามขั้นตอนปกติ

ภายหลังไต่สวนพยานปากนี้เสร็จเวลา 17.00 น. ศาลได้ชี้แจงคู่ความ โดยกำชับให้คู่ความระมัดระวังการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับคดี อย่าให้สัมภาษณ์ที่เป็นการชี้นำหรือบิดเบือนที่จะมีผลต่อกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งจะเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาล ศาลอาจจะพิจารณาเรื่องการประกันตัวของจำเลย หรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการซักถาม น.ส.สุภา พยานโจทก์เกี่ยวกับประเด็นการใช้อำนาจสั่งการให้นำเงินโครงการระบายไปใช้ในโครงการจำนำข้าวด้วยนั้น ศาลยังติดใจว่ามีการใช้อำนาจใดสั่งการ จึงให้โจทก์และจำเลยนำข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวมาเสนอต่อศาลในครั้งต่อไปด้วย

ทั้งนี้ภายหลังการไต่สวนเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางกลับโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ขณะที่ยังมีมวลชนที่มารอตั้งแต่ช่วงเช้า ตระโกนให้กำลังใจพร้อมมอบดอกกุหลาบให้

ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ กล่าวว่า ศาลกำชับเรื่องการสัมภาษณ์ ดังนั้นเรื่องทางคดีคงไม่สามารถให้ข้อมูลได้ โดยคดีนี้ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์อีกครั้งวันที่ 26 ก.พ.นี้

อย่างไรก็ตามในวันนี้ศาลไต่สวนพยานได้เพียง 2 ปาก ส่วนพยานที่อัยการเตรียมไว้เบิกความอีก 2 ปากให้เลื่อนไปไต่สวนในครั้งอื่น ซึ่งศาลฎีกาฯได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งต่อไปในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 09.00น.

















 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น