xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์สั่ง รพ.กรุงเทพ ชดใช้ 10 ล้าน ทำไฟไหม้ผิวหนังคนไข้ญี่ปุ่นขณะทำคลอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนสั่งให้ รพ.กรุงเทพและแพทย์ ชดใช้เงิน 10 ล้าน ฐานประมาททำคลอดบุตรสาวญี่ปุ่นผิดพลาด เครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าเกิดช็อต ไฟลุกไหม้เป็นแผลที่ข้างลำตัว ผิวหนังและเซลล์ประสาทถูกไฟไหม้

ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก วันนี้ (9 ก.พ.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีผู้บริโภค หมายเลขดำ ผบ.1461/2555 ที่ น.ส.มิคาโยะ อิโตะ อายุ 44 ปี ชาวญี่ปุ่น เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ แพทย์สูตินรีเวช และบริษัท โควีเดียน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการบริการ และเรียกค่าเสียหายจำนวน 82,638,252.90 บาท

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2555 โจทก์ตั้งครรภ์ไปทำคลอดที่ รพ.กรุงเทพ มีจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดทำคลอดบุตร เริ่มการผ่าตัดเมื่อเวลา 07.00 น. แพทย์ทำการบล็อกหลังก่อนผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำตัวเด็กออกจากครรภ์ ระหว่างที่จำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดอยู่นั้น โจทก์ได้กลิ่นไหม้อย่างรุนแรง พร้อมกับได้ยินเสียงของจำเลยที่ 2 ร้องออกมาด้วยน้ำเสียงตกใจว่า “ปิดแผลก่อนๆ” ขณะนั้นโจทก์ไม่ทราบว่าเกิดเหตุผิดปกติอะไร เนื่องจากเกิดอาการชาอวัยวะท่อนล่าง กระทั่งทราบภายหลังว่าเกิดเหตุไฟไหม้ที่บริเวณข้างลำตัวด้านขวาอย่างรุนแรง เนื่องจากขณะผ่าตัดเครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าที่ใช้สำหรับจี้ห้ามเลือดจากแผลผ่าตัด เกิดช็อต ขัดข้อง ทำให้ไฟลุกลามเป็นแผลที่ข้างลำตัว ผิวหนังกำพร้า หนังแท้ ต่อมเหงื่อ และเซลล์ประสาทถูกไฟไหม้ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “DEEP BURN” เป็นแผลไฟไหม้ระดับ 3 รอยไหม้กว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร จากบริเวณราวนมด้านขวาลงไปถึงต้นขาขวา ซึ่งเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ต้องรับทำความสะอาดแผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. - 17 มี.ค. 2555 รวม 21 วัน การทำความสะอาดแผลต้องถูกดมยา หรือฉีดยาเพื่อให้หมดสติทุกครั้ง ส่งผลกระทบต่อความจดจำของโจทก์ ต่อมาวันที่ 31 มี.ค. 2555 แพทย์ทำการผ่าตัดเข้าผิวหนังที่โคนขาขวา กว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร จำนวน 5 แผ่น ไปปิดปากแผลบริเวณลำตัวที่เกิดจากไฟไหม้ เนื่องจากผิวหนังบริเวณดังกล่าวตายไปแล้ว เมื่อเห็นบาดแผลทั้งหมดแล้วทำให้โจทก์มีอาการซึมเศร้า จิตใจย่ำแย่ ต้องปรึกษากับจิตแพทย์ โดยไม่ทราบว่าต้องใช้การรักษาไปอีกนานเพียงใด บาดแผลดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่สามารถสวมใส่ชุดชั้นในได้ตามปกติ เพราะเมื่อถูกรัดโดนบริเวณแผลจะทำให้เจ็บปวดจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

โดยศาลชั้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2556 ให้จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 10,273,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ใช้ค่าทนายความโจทก์ 30,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้าง เพราะจำเลยที่ 2 เพียงเช่าสถานที่และเครื่องมือเท่านั้น แต่จากการนำสืบของพยานได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งการจำเลยที่ 2 ในการปฏิบัติหน้าที่ มีการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ พฤติกรรมเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้กรณีจำเลยที่ 1-2 อ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุ สุดวิสัย จำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังดีแล้ว แต่ได้ความจากพยานโจทก์ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ตัวโจทก์เกิดจากน้ำยาทำความสะอาดที่หน้าท้องเพื่อผ่าตัด อาจไหลมาที่ข้างลำตัว ขณะที่เครื่องกำลังทำงานอาจทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ นอกจากนี้ยังได้ความว่าเครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าไม่ได้บกพร่องเสียหาย เชื่อว่าแอลกอฮอล์ที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อทำให้เกิดไฟไหม้ กรณีดังกล่าวจำเลยขาดความระมัดระวังไม่ใช่เหตุสุดวิสัย หรืออุบัติเหตุ อุทธรณ์จำเลยที่ 1-2 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อเครื่องไม่ได้บกพร่องจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่าตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามพยานหลักฐานโดยชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 10,273,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าทนายความโจทก์ 30,000 บาท และยกฟ้องจำเลยที่ 3 แต่ให้สงวนไว้ในการแก้ค่าเสียหายในอนาคต ภายในระยะเวลา 5 ปี เมื่อโจทก์ยังต้องรับการรักษาบาดแผลต่อเนื่อง ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 1-2 ชดใช้เงินแก่โจทก์ภายใน 30 วัน

ภายหลัง น.ส.มิคาโยะกล่าวว่า พอใจกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ปัจจุบันยังต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการฉีดยาเพื่อทำให้แผลเรียบ ส่วนคดีอาญาซึ่งแจ้งความไว้ที่ สน.มักกะสัน ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น