“กรมศุลกากร - กรมปศุสัตว์” บุกค้นห้องเย็น บริษัท ยูเมะ ฟู้ดส์ จ.นนทบุรี ยึดเนื้อกระบือ - เครื่องในโค ลักลอบน้ำเข้า รวม 2.1 หมื่นกิโลกรัม มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
วันที่ 26 ก.ค. 59 เมื่อเวลา 15.00 น. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก พล.ต.ต.สุศักดิ์ ปรักกมะกุล ผบก.ภ.จว.นนทบุรี นายพงษ์ศักดิ์ ธนะวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนปราบปราม พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ ร่วมแถลงข่าวเข้าตรวจค้นห้องเย็นในพื้นที่ ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี หลังพบเนื้อกระบือแช่แข็ง และเครื่องในโค จากต่างประเทศ และมีการพรางอยู่ในบรรจุภัณฑ์สีขาวข้างกล่องติดสติกเกอร์โลโก้ของห้องเย็น P Mart
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 58 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการจับกุมเนื้อโคแช่แข็งจากประเทศอินเดียในท้องที่ สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า มีการลักลอบนำเนื้อกระบือจากประเทศอินเดีย ลักลอบนำมาจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีแหล่งซุกซ่อนอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เจ้าหน้าที่จึงได้นำหมายศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 80/2558 ลงวันที่ 26 มกราคม 2559 เข้าตรวจค้น บริษัท ยูเมะ ฟู้ดส์ จำกัด เลขที่ 77 หมู่ 4 ถ.บ้านกล้วย - ไทรน้อย ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
จากการตรวจค้น พบเนื้อกระบือยี่ห้อ AL-TAYEB จากประเทศอินเดีย และเครื่องในโค จากประเทศเยอรมนี และยังมีบางแพ็กไม่ระบุแหล่งที่มา ทั้งหมดเป็นของต้องห้ามนำเข้าประเทศไทยอย่างเด็ดขาด ของกลางที่ตรวจยึดได้ประกอบด้วย
1. เนื้อกระบือแช่แข็ง จำนวน 17,000 กิโลกรัม ราคา 2,550,000 บาท
2. เครื่องในจากประเทศเยอรมนี จำนวน 4,000 กิโลกรัม ราคา 600,000 บาท
พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหาญพิทักษ์ ผบช.ก. กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นนโยบายของกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง โดยสนธิกำลังกับตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ โดยจะขยายผลเกี่ยวกับที่มา ที่กักเก็บ และที่วางจำหน่ายของเนื้อที่ผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับประชาชนผู้บริโภค ส่วนบริษัทดังกล่าวจะทำการตรวจสอบการชำระภาษี การนำเข้า - ส่งออก หรือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 จนถึงปัจจุบันมีการจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ทั้งสิ้น 76 คดี ฝังทำลายไปแล้ว 594,997 กิโลกรัม มูลค่า 63,315,199 บาท ส่วนซากสัตว์ที่ยึดได้ครั้งนี้ จำนวน 21,000 กิโลกรัม อยู่ระหว่างดำเนินการทำลาย ซึ่งกรมปศุสัตว์มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนจึงได้ใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายโรคระบาดสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้บริโภค