xs
xsm
sm
md
lg

ผบช.น.ลั่นโชว์แก้ปัญหาจราจร กทม.ภายใน 1 เดือน ตั้งเป้าจราจรดีขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ผบช.น.ลั่นภายในระยะเวลา 1 เดือน สามารถแก้ไขปัญหาการจราจร กทม.ได้ ปัดไม่กดดันคำสั่ง ผบ.ตร.วาง 5 มาตรการ ตั้งเป้าให้การจราจรดีขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ เริ่มวันที่ 1 ธ.ค.

วันนี้ (30 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. เป็นประธานปล่อยแถวปฏิบัติการแก้ไขปัญกาจราจร โดยมีนายตำรวจระดับรอง ผบก. บก.น.1-9 และ ผกก.จากสถานีตำรวจนครบาลทั่วกรุงเทพมหานคร และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อเตรียมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาด้านการจราจร โดยเฉพาะปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่กำชับให้ บช.น.แก้ไขปัญหารถติดภายในเวลา 3 เดือน โดย บช.น.ได้วาง 5 มาตรการในการแก้ปัญหาจราจร ดังนี้

มาตรการที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาด โดยเฉพาะการจอดรถกีดขวางช่องทางจราจรจะดำเนินการล็อกล้อ หรือยกรถ และปรับในอัตราสูงสุด ส่วนความผิดอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรจะพิจารณาปรับในอัตราต่ำ เช่น 200 บาท เพื่อสร้างวินัยและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน ยกเว้นกรณีที่ความผิดนั้นมีอัตราโทษปรับขั้นต่ำ กำหนดไว้ให้ปรับเกินกว่า 200 บาท

มาตรการที่ 2 การจัดระบบการหยุดรถรับส่งผู้โดยสารของรถประจำทาง รถรับจ้างสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่ รถสาธารณะอื่นๆ ไม่ให้มีการจอดซ้อนคันในบริเวณป้ายรถประจำทางจนทำให้รถยนต์ทั่วไปไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านไปได้ และทำให้การจราจรติดขัด โดยขณะนี้สำรวจแล้วมีทั้งสิ้น 46 จุด ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่กวดขันจับกุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อรถที่ฝ่าฝืน รวมถึงการก่อสร้างต่างๆ ที่รุกล้ำพื้นผิวถนนและส่งผลกระทบต่อการจราจรก็จะประสานกับบริษัทผู้รับเหมาให้รีบดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

มาตรการที่ 3 จัดการจราจรในเส้นทางเข้าออกกรุงเทพฯ ทั้ง 4 ทิศ ในถนน 11 สาย จะต้องมีความคล่องตัวขึ้น ประกอบด้วยทิศเหนือ ได้แก่ ถนนวิภาวดี ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน, ทิศใต้ ได้แก่ถนนบรมราชชนนี ถนนเพชรเกษม ถนนพระราม 2, ทิศตะวันออก ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรีตัดใหม่และทิศตะวันตก ได้แก่ ถนนรามอินทรา ถนนลาดพร้าว ถนนเกษตรนวมินทร์ เป็นต้น โดยให้บริหารจัดการประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่รอยต่อและประเมินอัตราความเร็วเฉลี่ยกำหนดเป็นตัวเลขเพื่อประเมินผลการปฏิบัติทั้งก่อนและหลังปฏิบัติการ

มาตรการที่ 4 การจัดการจราจรบริเวณทางขึ้นลงทางด่วนจะต้องไม่มีปัญหาการจราจรและต้องไม่มีการฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น การปาด การเบียดบริเวณทางขึ้นลง โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย คอยอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาและกวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

มาตรการที่ 5 การให้นายตำรวจระดับผู้บังคับการและรองผู้บังคับการที่รับผิดชอบจะต้องเป็นซีอีโอ (CEO) ในระดับปฏิบัติการ โดยผู้กำกับการจะต้องออกมาดูแล แก้ไข และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรด้วยตนเอง เมื่อมีปัญหาการจราจรต้องรีบไปแก้ไขทันที โดยการสั่งการให้ฝ่ายอื่นมาช่วยบูรณาการในการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกรวมถึงการตรวจสอบการปฏิบัติผ่านช่องทางไลน์ โดยให้ผู้กำกับการทุกสถานีส่งภาพถ่ายการปฏิบัติทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น รายงานผลให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วยตนเองทุกวัน

พล.ต.ต.ศานิตย์กล่าวว่า ตนยอมรับว่าที่ผ่านมา กทม.ยังมีปัญหาสำคัญทางด้านการจราจรอยู่มาก ซึ่งสาเหตุหลัก วันนี้ตนได้มอบหมายให้รอง ผบช.น.ที่ดูแลด้านจราจรทั้ง พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รอง ผบช.น. รวมถึง ผบก. รอง ผบก. ผกก.ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานี และรอง ผกก.จราจร ไปดำเนินการแก้ปัญหาจราจร ไปสำรวจในพื้นที่ที่รับผิดชอบที่ไม่ควรมีรถติด เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต รามอินทรา ลาดพร้าว นวมินทร์ บรมราชชนนี เพชรเกษม สุขุมวิท เพชรบุรีตัดใหม่ เป็นต้น ซึ่งบางแห่งไม่ใช่ทางร่วมทางแยก โดยสาเหตุที่ติดตนได้สั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบเรื่องที่มีรถยนต์สาธารณะมากีดขวางทางจราจร มีร้านหาบเร่แผงลอยมาตั้งวางขาย ติดเพราะมีการก่อสร้างกินพื้นที่ ต้องรีบขอคืยพื้นที่โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้บริเวณทางรถไฟก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ตลอดจนลดปัหาบริเวณคอขวด ทางลงทางด่วน เป็นต้น อย่างไรก็ตามหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่ต้องลงมาดูแล

พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวอีกว่า เราจะมีมาตรการในการตั้งจุดตรวจตามบันทึกสั่งการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ปี 2540 มาใช้เพื่อแก้ปัญหาจราจร ต้องไม่ตั้งจุดตรวจกีดขวางจราจรจนเกินไป ต้องไม่ใช้ตัวเลขค่าปรับมาเป็นตัวกำหนด เช่น ความผิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคาวมเดือดร้อนประชาชนให้ปรับไม่เกิน 200 บาท แต่กรณีขับรถกีดขวางจราจรทำให้ประชาชนเดือดร้อนต้องปรับให้หนัก ประมาณ 1,000 บาท และให้เชิญผู้ประกอบการรถสาธารณะมาเตือนห้ามจอดกีดขวางรถยนต์ของประชาชน หากไม่เชื่อต้องจับปรับอย่างเด็ดขาด อาจมีการตั้งกรวยหรือแบริเออร์มาขวางไว้หากไม่ทำตาม

บางครั้งจำเป็นต้องใช้วินัยและกฎระเบียบจราจรมาบังคับใช้เพื่อความเรียบร้อย รวมถึงการระบายรถ 4 มุมเมือง จราจรกลาง จราจรพื้นที่ และตำรวจในเขตภูธร ต้องสัมพันกันทั้งหมด ตอนเช้าต้องให้รถในพื้นที่ กทม. ให้จำนวนรถเบาบางลง ตอนเย็นระบายรถออกจาก กทม.ให้เร็วขึ้น หากทำได้เชื่อว่าการแก้ปัญหาจราจรระยะสั้นจะเกิดผลสำเร็จได้ ส่วนระยะยาวรถขนส่งมวลชน การก่อสร้างระบบสาธารณะ อุโมงค์ต่างๆ ก็เป็นอีกมาตราการต่อไปที่จะดำเนินการ และตนได้สั่งให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนบริเวณทางลงทางด่วนเพื่อกันรถที่จะปาดเข้าเพื่อลงทางด่วนจะได้น้อยลง รถที่ตรงไปจะได้ตรงได้ หรือจุดตรวจจุดสกัดไม่ควรตั้งตรงคอขวด ป้ายรถเมล์ขยับได้หรือไม่ เป็นต้น ทุกอย่างจะประสานความร่วมมือต่อไป ขอให้ตำรวจ บช.น. และหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ประชาชน ต่อไปนี้ตำรวจนครบาลต้องเอาใจใส่ดูแลปัญหาของประชาชนทุกด้าน ทั้งจราจร อาชญากรรม าเสพติด การสืบสวนสอบสวน ทุกด้านให้ดีต่อไป โดยตนจะใช้กำลังพลทุกฝ่ายให้เพียงพอมากที่สุดในการแก้ปัญหารถติด ให้หัวหน้าสถานีวิเคราะห์จำนวนกำลัง หากขอเพิ่มก็จะจัดให้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่านคิดว่าปัญหารถติดเป็นปัญหาโลกแตกที่ใครก็ไม่สามารถแก้ได้หรือไม่ พล.ต.ต.ศานิตย์กล่าวว่า ถ้าบอกว่า ผบช.น.ชื่อ พล.ต.ต.ศานิตย์ มาแล้วปัญหารถติดจะแก้ได้นั้นเป็นเรื่องโม้ แต่ต้องทำให้มันดีขึ้น คล่องตัวขึ้น ประชาชนเดือดร้อนน้อยลง ทั้งนี้ เราไม่สามารถห้ามคนไม่ให้ซื้อรถใช้ได้ แต่เราต้องมาบริหารจัดการให้ดีขึ้น เช่น ใครจอดรถกีดขวาง โดยเฉพาะรถยนต์สาธารณะต้องช่วยตนและช่วยประชาชน ต้องไม่ทำอีก ตนทำการบ้านตลอด ไม่ได้สั่งการเพราะมีข่าวคราวในช่วงนี้ แต่ทุกคนจะทำให้ดีขึ้นอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 1 เดือน ไม่กดดันกับการขีดเส้นเวลา 3 เดือนในการแก้ปัญหาจราจร เพราะเราทำงานแบบมืออาชีพ และได้พูดคุยกับ ผบ.ตร.เรื่องนี้แล้ว ไม่มีปัญหาแน่นอน เชื่อว่าไม่เกิน 1 เดือนก็จะเห็นการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมแน่นอน และไม่หวั่นต่อกระแสข่าวการพิจารณาลงโทษหากแก้ปัญหาจราจรไม่ได้แม้แต่น้อย เดินหน้ามีสมาธิกับการทำงานทุกอย่าง ตนไม่เคยกลัวความลำบาก และไม่กลัวที่จะต่อสู้กับคนที่ไม่ดี มั่นใจมาอยู่ตรงนี้ได้มาด้วยความดี ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง บช.น.ได้สั่งการให้ผู้กำกับติดป้ายประชาสัมพันธ์ชื่อผู้กำกับพร้อมด้วยเบอร์โทรศัพท์ไว้ตามแยกต่างๆ หากประชาชนประสบปัญหาการจราจรก็สามารถติดต่อให้ข้อมูลผู้กำกับโดยตรง โดยขณะนี้มีการติดตั้งไปทั้งสิ้นกว่า 368 จุดทั่ว กทม. ขณะเดียวกัน ในระดับกองบัญชาการได้มอบหมายให้รองผู้บังญชาการตำรวจนครบาลที่รับผิดชอบงานจราจรและกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) คอยบริหารจัดการจราจรในภาพรวม ทั้งใน กทม.และเขตรอยต่อปริมณฑล โดยให้สามารถเรียกกำลังจากกองบังคับการตำรวจสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ (191), งานป้องกับปราบปราม, งานอารักขา และควบคุมฝูงชน ออกมาช่วยปฏิบัติหน้าที่ได้อีกด้วย นอกจากนั้น มาตรการทั้ง 5 ข้อนี้จะมุ่งเน้นแก้ไขการจราจรแบบมืออาชีพ โดยมีเป้าหมายให้การจราจรดีขึ้น 60 เปอร์เซ็น โดยจะเริ่มขึ้นวันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป และได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประเมินทุก 30 วัน โดยจะมีการทำแบบสอบถามสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในทุกพื้นที่ มั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาภายใน 3 เดือนอย่างแน่นอน


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น