สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจงประกาศสำนักนายกฯ เรื่องเครื่องมือ 48 ชนิดที่ใช้ควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ เชื่อผู้ประสงค์ชุมนุมทำความเข้าใจ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 มาแล้ว ย้ำทุกกลุ่มทั้งการเมืองและเรื่องปากท้องต้องปฏิบัติตาม ใครฝ่าฝืนต้องดำเนินการตามกฎหมาย
วันนี้ (4 พ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รรท.ผบก.น.6 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะซึ่งมีทั้งหมด 48 ชนิด ว่า ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ตำรวจเชื่อว่าผู้ที่มีความประสงค์จะชุมนุมนั้นได้ศึกษาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 มาแล้ว มีขั้นตอนต่างๆ ระบุอยู่ เช่น ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนชุมนุม 24 ชั่วโมง และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าสถานีมากกว่า 1 พื้นที่ โดยผู้มีอำนาจควบคุมการชุมนุมคือตำรวจระดับกองบังคับการ ส่วนวิธีการแจ้งมีทั้งที่เป็นหนังสือเอกสาร หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการชุมนุมนั้นๆ ต้องไม่กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป
“หากมีการชุมนุมโดยไม่ดำเนินการตามข้อบังคับในกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนก็ต้องค้นหาว่าใครเป็นแกนนำการชุมนุม คนเหล่านี้จะต้องรับผิดตามกฎหมาย จากนี้พื้นที่ใดที่มีการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ก็จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” รองโฆษก ตร.ระบุ
ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า การชุมนุมมี 2 แบบ คือ การชุมนุมทางการเมือง และการชุมนุมในเรื่องของปากท้อง ตามระเบียบกฎหมายก็มีระบุไว้ชัดเจนถึงขั้นตอนการปฏิบัติของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่หลายพื้นที่พี่น้องประชาชนบางส่วนอาจจะยังคิดว่าตอนนี้ใช้กฎหมายแบบเดิมอยู่ จึงขอเรียนว่าตอนนี้ประเทศไทยได้บังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฉบับนี้แล้ว พื้นที่ใดจะมีการชุมนุมต้อปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความถูกต้อง ส่วนกรณีการชุมนุมของกลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ชุมนุมปิดถนนใน อ.วังสะพุง จ.เลย นั้นประชาชนอาจยังไม่เข้าใจขั้นตอนดังกล่าวซึ่งถือว่ากระทำผิดกฎหมาย