ASTV ผู้จัดการ - ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง 3 จำเลยตระกูล “หินแก้ว” จ้างวานฆ่า “เจริญ วัดอักษร” ชี้ไม่มีพยานหลักฐานที่มั่นคงเพียงพอ ด้านภรรยาอดีตแกนนำแกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกระบุคำพิพากษาไม่เหนือความคาดหมายและพร้อมยอมรับ แต่ฝ่ายชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติถูกจำคุกคนละ 21 ปี จับตาอิทธิพลเถื่อนรุกที่สาธารณะคลองชายธงหนักขึ้น
วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีจ้างวานฆ่านายเจริญ วัดอักษร แกนกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก หมายเลขดำ ที่ ด.2945/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเสน่ห์ เหล็กล้วน (เสียชีวิตแล้วในเรือนจำ), นายประจวบ หินแก้ว (เสียชีวิตแล้วในเรือนจำ), นายธนู หินแก้ว อาชีพทนายความ อายุ 53 ปี, นายมาโนช หินแก้ว อดีต ส.จ.ประจวบคีรีขันธ์ อายุ 49 ปี และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อนอก อายุ 78 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น และ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490
ตามฟ้องอัยการโจทก์เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2547 ระบุว่า ระหว่างต้นปี 2547 - 21 มิ.ย. 2547 จำเลยที่ 3-5 ร่วมกันจ้างวานให้จำเลยที่ 1-2 ฆ่านายเจริญ วัดอักษร อายุ 37 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกของบริษัท กัลฟ์ อิเล็คทริคส์ ซึ่งจำเลยที่ 1-2 ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม.ยิงนายเจริญรวม 9 นัด จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายที่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่นายเจริญลงจากรถทัวร์โดยสารสายกรุงเทพฯ-บางสะพาน หลังจากเดินทางไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องของการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธงในเขต อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วจำเลยทั้งสองพากันหลบหนีไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวจำเลยได้ เหตุเกิดที่บริเวณสี่แยกบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2551 ว่านายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานใช้ฆ่าผู้อื่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ให้ประหารชีวิต ส่วนนายมาโนช และนายเจือ จำเลยที่ 4-5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานนำสืบไม่ชัดเจนไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2556 พิพากษายืนยกฟ้องนายมาโนช และนายเจือ จำเลยที่ 4-5 โดยพิพากษากลับให้ยกฟ้องนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 จากเดิมที่ถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตฐานจ้างวาน เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้เอาผิดจำเลยได้
ทั้งนี้ ระหว่างฎีกาจำเลยที่ 3-5 ได้รับการปล่อยตัว ส่วนนายเสน่ห์ และนายประจวบ จำเลยที่ 1-2 กลุ่มมือปืนที่ถูกคุมขังในเรือนจำได้เสียชีวิตเมื่อเดือน ส.ค. 2549 ระหว่างการพิจารณาคดีศาลชั้นต้น ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกาให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 3-5 ในความผิดฐานร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น
ในวันนี้ นายมาโนช อดีต ส.จ.ประจวบคีรีขันธ์ และนายเจือ อดีตกำนัน ต.บ่อนอก จำเลยที่ 4-5 เดินทางฟังคำฟังคำพิพากษา ขณะที่นายธนู หินแก้ว ทนายความ จำเลยที่ 3 ไม่ได้เดินมาศาล ซึ่งศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว
ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3-5 เป็นผู้จ้างวานใช้จำเลยที่ 1 และ 2 ฆ่าผู้ตายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีพยานเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความว่า จากการสอบสวนทราบว่าจำเลยที่ 1-2 ร่วมกันยิงผู้ตายขณะกำลังลงจากรถโดยสารประจำทาง โดยใช้อาวุธปืนคนละกระบอก ภายหลังจับกุมจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยซัดทอดว่าจำเลยที่ 3 ร่วมวางแผนยิงผู้ตาย ภายหลังฆ่าผู้ตายแล้วจึงได้โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 4 และอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 5
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ได้ให้การว่าตนอยู่ในกลุ่มสนับสนุนให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและขัดแย้งกับผู้ตายซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามทำให้เกิดความไม่พอใจ และวันเกิดเหตุได้พบกับจำเลยที่ 2 ระหว่างนั้นเห็นผู้ตายเดินมาคนเดียวจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่ได้มีลักษณะเป็นการจ้างวาน ซึ่งคำให้การของจำเลยที่ 1-2 เป็นคำซัดทอดและขัดแย้งกันเองในหลายประเด็น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดเจนที่ 4-5 เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรและไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 วางแผนฆ่าผู้ตายที่ใด มีเพียงคำพูดของจำเลยที่ 4 ที่ได้สอบถามจำเลยที่ 1-2 ภายหลังยิงผู้ตายแล้วกลับมาที่บ้านพักว่าไปทำอะไรกันมา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4-5 ไม่น่าจะรู้เห็นกับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ 1-2 ในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าและเป็นเพียงคำซัดทอด อีกทั้งจำเลยที่ 1-2 เสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี ทำให้จำเลยที่ 3-5 ไม่มีโอกาสซักค้าน ดังนั้นคำให้การซัดทอดดังกล่าว จึงต้องรับฟังอย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนด้วย โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่มั่นคงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3-5 ร่วมกระทำผิดฐานจ้างวานฆ่าผู้อื่น และจำเลยที่ 3-5 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน พร้อมให้เพิกถอนหมายจับของจำเลยที่ 3
นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญกล่าวว่า คำพิพากษาไม่ได้เหนือความคาดหมายของตนและชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย แต่ในฐานะที่เป็นประชาชนก็ต้องยอมรับคำพิพากษา ทั้งนี้ได้ติดตามคดีการตายของนายเจริญ วัดอักษร มาตลอด 11 ปี ก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง และคิดว่าควรจะต้องเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าพี่น้องของพวกเราที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ต่อสู้เพื่อรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกจำคุกคนละ 21 ปี 6 เดือน โดยไม่มีความผิด แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาที่ฆ่านายเจริญกลับถูกปล่อยตัวให้ลอยนวล ตนและชาวบ้านจะต่อสู้ต่อไป โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่สาธารณะคลองชายธงซึ่งปัจจุบันมีสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและตึงเครียดเพิ่มขึ้น เพราะมีนายทุน ข้าราชการและอิทธิพลเถื่อนพยายามที่จะเข้ามาครอบครองพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่ระบบนิเวศและเป็นฐานทรัพยากรชุมชนไปทำเป็นมหาวิทยาลัย จึงอยากให้สื่อมวลชนเฝ้าติดตามด้วย เพราะการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดในคดีนี้จะทำให้กลุ่มทุนและอิทธิพลในพื้นที่เหิมเกริมมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำอย่างไร นางกรณ์อุมากล่าวว่า คงต้องหารือกับชาวบ้านว่าดำเนินการไปในทิศทางใด ตนและชาวบ้านหวังสิทธิคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมกับทุกภาคส่วนแต่ตอนนี้คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ฉะนั้นพี่น้องในพื้นที่จะต้องช่วยเหลือและดูแลกันเอง
ด้านนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อนอก กล่าวภายหลังศาลยกฟ้องว่า ตลอดระยะเวลา 11 ปี ที่ผ่านมาตัวเองถูกกล่าวหา ตกเป็นจำเลย ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และถือว่าได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์แล้ว