ผบ.ตร.ย้ำในเวทีประชุมมอบหมายหน้าที่บิ๊กตำรวจต้องรักษาภาพลักษณ์ สร้างความสามัคคีในองค์กร ฝ่ายปราบปรามต้องลงไปคุยลูกน้องชั้นประทวน ให้รู้แนวคิด ลั่นหากบกพร่องจะไม่สั่งย้ายผู้บังคับการ แต่จะสั่งถึงผู้บัญชาการเลย
วันที่ 1 ต.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวในที่ประชุมมอบหมายหน้าที่การงานระดับ ตร. โดยมีรอง ผบ.ตร.และผู้ช่วย ผบ.ตร.ทุกนายเข้าร่วมประชุมว่า ตำรวจรวมกันนานๆ ก็แตกแยก พอแตกแยกกันนานๆ ก็มารวมกัน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องกลับมารวมกัน สิ่งที่ตนต้องเตือน คือ อยากให้รักษาภาพลักษณ์ ตนมี 2 สถานะ โดยสถานะแรกคือเป็นผู้บังคับบัญชา อีกสถานะซึ่งตนให้ความสำคัญมากกว่า คือ เป็นน้องของพวกพี่ “เพราะฉะนั้นพวกพี่ๆ ต้องช่วยผมทำงาน ผมโชคดีที่มีพี่ๆ ทุกคน และเชื่อในความสามารถของพี่ๆ ผมถึงหยิบมาใช้ทุกคน โดยที่ไม่ได้เลือกไม่ได้แบ่ง ผมมีแต่สิ่งดีๆ มาให้พี่ ถ้ามีปัญหาผมรับเอง งานที่ต้องสร้างภาพลักษณ์ สร้างภาพความสามัคคีให้แก่องค์กร”
ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน เช่น การไปลงนามถวายพระพร การไปอวยพรวันเกิดบุคคลสำคัญของบ้านเมือง นโยบายในภาพรวมของงานป้องกันปราบปราม (ปป.) และงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ตนอยากให้ฝ่าย ปป.ลงไปประชุมปรับทัศนคติ ทำความเข้าใจกับลูกน้องชั้นประทวนให้รู้แนวคิดเรา ต่อไปถ้าใครบกพร่องตนจะไม่สั่งให้ผู้บังคับการมาช่วยราชการแล้ว แต่จะสั่งถึงผู้บัญชาการเลย ฝากเรื่อง พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัย และ พ.ร.บ.ทวงหนี้ งาน ปป.ให้ไปศึกษาดู นโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี 3 เรื่อง คือ 1. การค้ามนุษย์ 2. ยาเสพติด 3. สถานบันเทิงใกล้สถานศึกษา ภายในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ให้ส่งรายชื่อชุดเฉพาะกิจทุกชุด อย่าให้เกิน 35 คน
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับระบบ CRIME ซึ่งอยู่ในโรงพัก งาน ปป.ต้องลงไปควบคุม ให้กรอกข้อมูล อยากให้ไปประชุมชั้นประทวนเพื่อปรับทัศนคติ และเก็บภาพมาให้ตนดู ถ้าหัวหน้างานไม่ไปก็มอบหมายให้ผู้ช่วยไปแทน ให้หัวหน้า นรป.อยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริทุกโครงการ
ด้าน พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ทุกคนในสายงานตน สามารถทำงานร่วมกันได้ ส่วนงานด้านศูนย์ปราบปรามทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) มีคนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว อย่างเช่น พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา รรท. ที่ปรึกษา (สบ 10) ก็อยากให้มาช่วยทำงานต่อไป และฝากให้จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ช่วยตรวจสอบในด้านบวกด้วย หากตรวจแต่ด้านลบเกรงว่าจะเป็นการจ้องจับผิด ลูกน้องก็จะเสียขวัญ
ด้าน พล.ต.ท.วินัย ทองสอง รรท.รอง ผบ.ตร กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) มี 2 แขน โดยแขนที่ 1 คือ การประชุมสั่งการ ที่ปัจจุบันนี้ทำได้ดี แต่ที่มีปัญหาคือแขนที่ 2 เรื่องศูนย์ข้อมูล เช่น ศูนย์ CCOC หากทำได้ดีจะนำไปสู่การสืบสวนได้
ด้าน พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ดีใจที่มีการแบ่งแยกงานต่างประเทศออกจากงานมั่นคงเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมางานด้านนี้ถือว่าหนักมาก ตนไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ ทั้งยังต้องรับนโยบายของรัฐบาลด้วยซึ่งอาจจะเกิดปัญหางานซ้ำซ้อน และขอฝาก พล.ต.อ.สุพร ที่รับผิดชอบงานด้านกองทะเบียนพล ปัจจุบันนี้มีปัญหาที่ทำให้ ก.ตร.สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องคดี และช่วงหลังๆ เรื่องไปถึงศาลปกครอง ก.ตร.มักจะแพ้แทบทุกคดี อยากให้กองทะเบียนพลทำให้ดี ให้ชัดเจนทุกเรื่อง
ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ รรท. ที่ปรึกษา (สบ 10) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องของศูนย์ 191 ระบบ CRIME ถ้าดำเนินการพัฒนาให้เป็นศูนย์สั่งการจะทำให้สามารถจับกุมคนร้ายได้มากขึ้น ส่วนเรื่องอาวุธปืนขณะนี้กำลังจัดทำศูนย์ข้อมูลอยู่ คาดว่าเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีประโยชน์มาก เช่น เมื่อเกิดเหตุสามารถตรวจสอบประวัติเกี่ยวกับอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวได้ หรือเจอกระสุนจะรู้ว่าถูกยิงมาจากปืนชนิดใดขนาดเท่าไหร่ กระบอกไหน ซึ่งข้อมูลและรายละเอียดต้องจัดเป็นระบบฐานข้อมูลอยู่ในระบบ CRIME ซึ่งได้งบประมาณมาจาก กสทช.จำนวน 10 ล้านบาท โดน สตม. ตท. สามารถใช้ศูนย์ตรงนี้ได้ ทั้งนี้ ระบบ CRIME นั้นสามารถใช้ระบบทะเบียนราษฎรได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อมูลของประจำวันซึ่งต้องฝากงานให้กับฝ่าย ปป.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจโรงพักกรอกข้อมูล ขณะนี้ บช.น. ภ.1 และ บช.ก.ใช้ได้แล้ว
ด้าน พล.ต.อ.ไตรรัตน์ อมาตยกุล หน.นรป. กล่าวว่า ขอฝาก 3 เรื่อง คือ 1. แก้ระเบียบหลักว่าด้วยเรื่องรักษาความปลอดภัย 2. หลักในการปฏิบัติ 3. แนวทางการปฏิบัติการเสด็จส่วนพระองค์ และการประชุมเกี่ยวกับการถวายรักษาความปลอดภัย อยากให้มีระดับ ตร. ไปร่วมประชุมด้วยตัวเอง
ด้าน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล รรท.จตช.กล่าวว่า ให้หัวหน้าแต่ละแห่งรวบรวมปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ ส่งมาที่จเรตำรวจ เพื่อสะท้อนปัญหาที่แท้จริง เช่น CRIME มีปัญหา จะสั่งให้จเรตำรวจที่ดูแลไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วเรื่องการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เช่น จุดตรวจ จุดสกัด หรือด่านตรวจ หากไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่แล้วมาตั้งด่านจะมีการลงโทษทันที
ด้าน พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น รรท.ที่ปรึกษา (สบ 10) กล่าวว่า ตำรวจไม่ควรขับเคลื่อนในสิ่งที่ไม่ควรขับเคลื่อน ส่วนเรื่องที่สำคัญคือเรื่องยาเสพติด ให้ผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับการของแต่ละหน่วยต้องเป็นแกนหลักในการปฏิบัติและดำเนินการ ทั้งควรต้องขับเคลื่อนหน่วยงานและคนของตัวเองให้ลงพื้นที่ให้มากที่สุด อย่าพึ่งพาหน่วยงานอื่นเป็นสำคัญ เช่น ผวจ. และหน่วยงานอื่น