กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกแผนกู้ซากเรือ “ภัทรมารีน 5” หลังเรือโดนคลื่นลมแรง เมื่อกลางดึกของวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา และจมลงบริเวณปากร่องน้ำท่าเรือกรุงเทพร่องที่ 2 จนทำให้มีตู้คอนเทนเนอร์ลอยอยู่กลางทะเลและมีผู้สูญหาย 4 คน ร่วมวางแนวทางในการเก็บกู้ซากเรือ และเก็บตู้ที่ลอยในทะเล ให้แล้ววันศุกร์นี้
หลังเรือภัทรมารีน 5 ของบริษัท ภัทรทรานสปอร์ต จำกัด โดนคลื่นลมแรง และจมลงบริเวณปากร่องน้ำท่าเรือกรุงเทพร่องที่ 2 พร้อมตู้คอนเทนเนอร์ (ตู้สินค้า) จำนวน 88 ตู้ และมีผู้สูญหาย 4 คน เมื่อกลางดึกของวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา
ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นายวีระศักดิ์ ตินโนเวช ผอ.สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม นายมุข ประยูรพรหม ผอ.สำนักงานเขตเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรปราการ และนายธงชัย พงษ์วิชัย ผอ.สำนักมาตรฐานเรือ นำเรือ เจ้าท่า 803 ออกตรวจการเก็บกู้ซากเรือภัทรมารีน 5 ณ จุดเรือจมพิกัด ละติจูดที่ 13-22 N ลองจิจูดที่ 100-42-9E ซึ่งเป็น และการเก็บกู้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ลอยอยู่กลางทะเลอ่าวไทย
นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ภารกิจในวันนี้ได้วางแนวทางให้ดำเนินการกู้ตู้คอนเทนเนอร์ที่รวบรวมไว้ทั้งหมด 23 ตู้ให้แล้วเสร็จภายในเที่ยงคืน โดยใช้เรือเครนซีทรานขนาด 200 ตัน ยกตู้ขึ้นมาวางบนเรือภัทรสหไทย ก่อนจะลากตู้ทั้งหมดกลับไปเก็บไว้ที่ฝั่งบริเวณท่าเรือยูนิไทย ส่วนตู้ที่เหลือคาดว่าจะจมลงทะเลหมดแล้ว เนื่องจากน้ำได้ไหลเข้าไปด้านในทำให้ตู้จม แต่ทั้งนี้ระดับความลึกของทะเลบริเวณดังกล่าวมีความลึกราว 18 เมตร แต่เรือสินค้าที่ใช้ช่องทางเดินเรือดังกล่าวเข้า - ออก มีลึกไม่เกิน 10 เมตร จึงไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะต้องมีกระบวนการค้นหาใต้น้ำเพื่อตามหาตู้ทั้งหมดให้เจอเพื่อความปลอดภัยในการสัญจร รวมถึงประสานชาวประมงหากพบตู้ลอยอยู่ ณ จุดใดให้แจ้งมายังกรมเจ้าท่าทันที เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป
สำหรับแนวทางการกู้ซากเรือภัทรมารีน 5 นั้น รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า เมื่อวานหลังจากนักประดาน้ำชุดสำรวจได้ลงสำรวจตัวเรือที่จม พบว่า เรือลำดังกล่าวจมลงไปในดินโคลนราว 1.20 เมตร ตัวเรือตั้งตรงโดยหัวเรือหันกลับไปมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้วางแผนกู้เรือได้ง่ายประกอบกับกระแสน้ำด้านใต้ทะเลไม่แรง จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการกู้ซากเรือ โดยจะใช้แรงลอยตัวในการยกเรือขึ้น ด้วยการนำพอนทูน 4 ลูก ใส่น้ำลงไปเพื่อติดบริเวณหัวเรือ 2 ลูก และด้านข้างเรืออีก 2 ลูก ก่อนจะแทนที่ด้วยการอัดอากาศเข้าไป รวมถึงอัดอากาศเข้าในถังหัวเรือ และถังน้ำอับเฉา เพื่อพยุงให้เรือลอยขึ้นมาพ้นน้ำ จากนั้นจึงสูบน้ำออกจากระวางเรือ เพื่อให้เรือทรงตัวบนผิวน้ำได้ก่อนจะลากกลับเข้าฝั่ง ซึ่งการเก็บกู้เรือนั้นจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ ยังให้นักประดาน้ำ จากตำรวจน้ำลงดำสำรวจในห้องเครื่อง ว่า มีคนติดอยู่หรือไม่และใช้เครื่องโซนาร์ส่งกล้องลงไปสำรวจบริเวณโดยรอบตัวเรือเพื่อกำหนดจุดในการเก็บกู้ซากเรือด้วย ด้านการป้องกันการรั่วไหลของน้ำมัน ทางนักประดาน้ำชุดสำรวจได้ทำการปิดระบบท่อทางทั้งหมดแล้ว เพื่อไม่ให้น้ำมันรั่วไหล และมีเรือชลธารานุรักษ์เฝ้าระวังเรื่องการรั่วไหลของน้ำมันตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ยังคงมีน้ำมันค้างในเรือประมาณ 2,000 ลิตร และยังไม่พบคราบน้ำมันในจุดเกิดเหตุ
ส่วนผู้สูญหายทั้ง 4 คนนั้น ทางกรมเจ้าท่าได้นำเรือ ออกค้นหาบริเวณเลียบชายฝั่งอีกทางหนึ่ง เพราะวันที่เกิดเหตุคลื่นลมแรงอาจพัดผู้สูญหายไปติดตามชายฝั่งก็เป็นได้ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ประกาศให้ชาวเรือช่วยค้นหาด้วย