สตม.เตรียมความพร้อมรับมือเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ชมการสาธิตใช้เครื่องมือตรวจหนังสือเดินทางปลอม
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. (บร 2) และ ผอ.ศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี ผบช.สตม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหลังการประชุมเสร็จสิ้น พล.ต.อ.วุฒิชมการสาธิตการใช้เครื่องมือในการตรวจหนังสือเดินทางปลอม โดยมี พ.ต.ท.ศุภชาติ พันธุมณี สว.กก.สส.ปป.บก.ตม.2 มาอธิบายการตรวจสอบตามขั้นตอนวิธีต่างๆ
พล.ต.ท.ศักดากล่าวว่า การตรวจพบหนังสือเดินทางที่ถูกปลอมแปลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบหนังสือเดินทาง กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมและใช้เครื่องตรวจสอบเอกสารเพื่อสนับสนุนฝ่ายต่างๆ ในสังกัด ด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ หรือตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ในการตรวจสอบหนังสือเดินทาง เอกสารที่ใช้ในการเดินทาง และรอยตราประทับ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และมีตัวอย่างหนังสือเดินทางของประเทศต่างๆ 104 ประเทศ ซึ่งจะมีเครื่องตรวจหนังสือเดินทางปลอมที่ได้มาตราฐาน แม้ว่าอาชญากรรมข้ามชาติจะพยายามทำให้ใกล้เคียงกับของจริงมากแค่ไหน แต่กระบวนการพิมพ์หนังสือเดินทางนั่นจะแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีอีกหลายจุดที่ปลอมแปลงได้ยาก แต่สามารถตรวจพบได้โดยเครื่องตรวจหนังสือเดินทางปลอม
พล.ต.ท.ศักดากล่าวต่อว่า ด้านสถานการณ์การปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่พบการกระทำความผิดนั้น เนื่องจากหนังสือเดินทางในหลายประเทศได้พัฒนาขึ้นมาเป็นหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีไมโครชิปบรรจุข้อมูลภาพถ่าย และมีการพัฒนาระบบความปลอดภัยในหนังสือเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้อาชญากรทำการปลอมแปลงได้ยากขึ้น ส่งผลให้การปลอมหน้าเหมือนเป็นที่นิยมและมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะคนเวียดนามที่ชอบใช้หนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษของผู้อื่นเพื่อเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คนศรีลังกาที่ชอบใช้หนังสือเดินทางประเทศมาเลเซียของผู้อื่นเพื่อเดินทางไปยังประเทศที่ 3 ส่วนด้านการปลอมแปลงหน้าข้อมูลส่วนบุคคลก็ยังคงเป็นพฤติกรรมการปลอมแปลงที่กระทำต่อหนังสือเดินทางเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยหนังสือเดินทางของประเทศจีน และจีน (ไต้หวัน) ถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับยอดนักท่องเที่ยวของประเทศจีนที่หลั่งไหลเข้ามาประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน
พล.ต.ท.ศักดากล่าวอีกว่า ขณะที่ผู้ที่ต้องการลี้ภัยจากสงครามทางการเมืองทางตะวันออกกลางก็ยังคงใช้ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านไปยังประเทศที่ 3 โดยเฉพาะชาวซีเรียที่นิยมใช้หนังสือเดินทางของประเทศในแถบยุโรป เช่น กรีซ, เบลเยียม, โปแลนด์, บัลแกเรีย และอังกฤษ ล่าสุดการปลอมแปลงหนังสือเดินทางทั้งเล่มก็เป็นอีกหนึ่งประเภทของการปลอมแปลงที่น่าจับตามองอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมานี้เอง ตรวจพบการปลอมแปลงหนังสือเดินทางสโลเวเนียทั้งเล่มซึ่งใช้โดยชาวอินเดียถึง 3 เล่ม ขณะเดียวกัน เมื่อนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่แอบแฝงเข้ามาแบบนักท่องเที่ยวต้องการอยู่ประเทศไทยต่อไปก็จะปลอมแปลงรอยตราประทับขออยู่ต่อในราชอาณาจักรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น นอกจากจะมีหน้าที่ในการสนับสนุนด้านการตรวจสอบแล้วจึงต้องมีหน้าที่หลักในการเป็นวิทยากรฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศให้มีความรู้ด้านการตรวจสอบหนังสือเดินทางและการตรวจสอบเอกลักษณ์บุคคล ตลอดจนเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของ Document Alert หรือเอกสารแจ้งเตือนภัยหนังสือเดินทางปลอม ที่แสดงภาพพร้อมคำอธิบายประกอบเปรียบเทียบให้เห็นจุดสังเกตของการปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่เป็นเป้าหมายในการเฝ้าระวัง หรือมีสถิติการปลอมแปลงสูง เพื่อพัฒนาความเป็นมืออาชีพและเพิ่มขีดความสามารถตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทุกนาย
พล.ต.อ.วุฒิกล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้เพื่อดูความพร้อมของ สตม. และแก้ไขความพร้อมด้านต่างๆ อาทิ 1. แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับชาวต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัยในประเทศไทย ซึ่งเมื่อก่อนต้องเดินทางมาแจ้งข้อมูลลงกระดาษเอกสารแต่ปัจจุบันใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2. แก้ระบบโดยจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลคนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย สามารถทราบได้ว่าคนต่างชาติพักอยู่ที่ใดในประเทศไทย 3. ระบบเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงกับกองการต่างประเทศสำหรับตรวจสอบพาสปอร์ตปลอมของชาวต่างชาติ 4. ป้องกันการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ แก้ไขด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด และ 5. การจัดสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาต่างชาติ โดยจัดเตรียมสถานที่ควบคุมให้มีความพร้อมเรื่องพาสปอร์ตนั้นถือว่าเป็น 1 ใน 9 ประเภทที่เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญและแบ่งย่อยออกเป็น 8 อย่าง เช่น แก้ไข ปลอม หรือเปลี่ยนแปลง ฯลฯ เพราะเมื่อเข้ามาประเทศไทยอย่างผิดๆ แล้วจะทำให้เกิดปัญหาตามมา