“สมยศ” แจงกรณีตีกลับถอดยศ “ทักษิณ” รอบสอง ระบุเหตุองค์ประกอบความผิดไม่ครบถ้วน ลั่นไม่มีการยื้อ ไม่กลัว แต่ต้องทำให้ถูกต้องชัดเจนตอบสังคมได้ เสนอตามหลักเซ็นแน่นอน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชากทารตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องนี้ตนอยากชี้แจงว่าความจริงแล้วรายงานมติของคณะกรรมการพิจารณาถอดยศตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ10) เป็นประธานนั้น เพิ่งมีการส่งมาถึงตนเพียง 1 ครั้งเท่านั้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีข่าวว่ามติดังกล่าวถูกส่งมาให้ตนครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ถือว่ากระบวนการขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์ และตนก็ยังไม่ได้เห็นรายงานในตอนนั้น โดยตนได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าทาง พล.ต.อ.ชัยยะ ได้ส่งรายงานมาให้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่ารายงานยังไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่มีการลงชื่อรับรองมติของคณะกรรมการฯ ตนจึงได้สั่งให้นำรายงานคืนกลับไปให้ พล.ต.อ.ชัยยะ ตรวจสอบและให้คณะกรรมการฯ เซ็นชื่อรับรองมาให้ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนทางธุรการ โดยที่ตนยังไม่ได้อ่านหรือเห็นรายงานฉบับนั้นเลย และคิดว่าหากรายงานยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎระเบียบก็สมควรนำกลับไปแก้ไขมาใหม่ เนื่องจากเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจจำนวนมาก
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า กระบวนการในเรื่องถอดยศนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ซึ่งตนได้ตรวจสอบและเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ในส่วนขององค์ประกอบในการพิจารณาการถอดยศตำรวจซึ่งยึดตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 ที่ต้องพิจารณาจาก 2 องค์ประกอบหลัก คือ 1.พฤติกรรมของข้าราชการตำรวจคนนั้นที่สมควรเสนอให้มีการถอดยศ โดยมีรายละเอียด 7 เหตุผลด้วยกัน 2.มีพฤติการณ์ไม่สมควรให้ดำรงอยู่ในยศตำรวจ เช่น ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม มีเรื่องให้เสื่อมเสียแก่ตนเองหรือหมู่คณะ ซึ่งในเอกสารพิจารณาการถอดยศที่ส่งมาให้ตนนั้น ลงความเห็นมาในองค์ประกอบแรกเท่านั้น โดยคณะกรรมการฯ สรุปว่ากรณีของพ.ต.ท.ทักษิ้ณ เข้าเงื่อนไขข้อ (6) คือต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ขณะที่องค์ประกอบที่สองยังไม่ลงความเห็นมา คือไม่ได้แจกแจงขยายความว่าตำรวจนายนั้นกระทำความเสื่อมเสียอะไรและเสื่อมเสียเกียรติภูมิของตำรวจอย่างไรจึงสมควรถูกถอดยศ ตนจึงให้กลับไปสรุปลงองค์ประกอบที่สองให้ครบถ้วน และกำหนดให้รายงานผลกลับมาภายในวันที่ 11 มิ.ย.นี้
"สิ่งที่เกิดขึ้นหลายคนอาจจะมองว่าเป็นความขัดแย้งในหน่วยงาน พล.ต.อ.ชัยยะ กับตนมีการโยนเรื่องกันไป แต่ตนกลับมองว่านี่จะเป็นกรณีศึกษา ทำให้เห็นว่าตำรวจซึ่งเป็นกลไกของรัฐไม่ได้ถูกครอบงำ ไม่ได้ถูกใบสั่ง แต่ถ้าเสนอมาเช้าแล้วเย็นตนเซ็นเลย ตรงนี้นี้อาจนำมาสู่จุดนั้นได้ อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องใบสั่งหรือการชี้นำได้ แต่อย่างนี้คือการให้เวลา ให้สังคมได้ศึกษา ไม่ได้ทำแบบม้วนเดียวจบ ข่าวสารก็จะออกมาแบบหนึ่ง ตนจึงพูดตลอดว่าอย่างมากดดันชี้ นำ ตีปลาหน้าไซ ซึ่งคนพวกนั้นที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นั้นต่างก็มีเบื้องหลังต้องการให้ตนตัดสินใจไปตามธงของเขา ขอให้เชื่อว่า ผบ.ตร. มีวิจารณญาณ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร บางคนมาพูดมาพูดว่าหากไม่ถอดยศจะถูกปลด ขอให้รู้ไว้ตนไม่เหมือนผบ.ตร.คนอื่น พร้อมจะไปได้ทุกเมื่อ "ผบ.ตร. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้เร่งรัดให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ ผบ.ตร. กล่าวว่า "ทั้งนายกฯและรองนายกฯ ไม่เคยมาเร่งรัดใดๆ เพียงแต่ถามเท่านั้นว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่ออธิบายไปท่านก็เข้าใจและบอกว่าทำถูกต้องแล้วที่ยึดกฎหมายและความละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ การทำงานของผมยึดหลักคุณธรรมและหลักการมาโดยตลอด และจะไม่กลั่นแกล้งใครทั้งสิ้น เพราะเชื่อว่าหากเราไปทำให้เขาเดือดร้อน เราเองก็จะเดือดร้อนในภายหลัง เพราะกฎหมายมันตามกันทันตลอด ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีนักกฎหมาย ผมไม่ต้องการถูกฟ้องร้อง และต้องไปขึ้นศาลหลังจากตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยไม่รอบคอบ"
เมื่อถามว่าเรื่องนี้ผ่านการพิจารณามาหลายยุคแล้ว จะจบลงในสมัย พล.ต.อ.สมยศ หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ถ้ามีการส่งรายงานมติของคณะกรรมการฯ มาในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ส่งมาเลย เซ็นแน่นอน แต่จะเซ็นแย้งหรือเซ็นยืนยันก็เป็นอีกเรื่อง
"หากคณะกรรมการฯ มีเหตุผลในการถอดยศ ก็เขียนมาสิ จะให้ผมเป็นผู้วินิจฉัยคุณต้องเขียนมาให้ละเอียด เพราะคณะกรรมการฯ เป็นเหมือนฝ่ายธุรการหรือฝ่ายอำนวยการ ของผม ทำมาให้ครบแล้วกัน ไม่มีใครฝืนข้อเท็จจริงได้หรอก สมัยก่อนผมเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรฯ อดีต ผบ.ตร.บอกให้สั่งไม่ฟ้อง หลังจากที่ผมได้สั่งฟ้องไปแล้ว ตอนนั้นผมเป็นรองผบ.ตร. ผมไม่ทำ ไม่มีทาง หากผมเช่นนั้นผมจะเดินถนนอย่างไร สั่งฟ้องไปแล้ว จู่ๆ มากลับเป็นสั่งไม่ฟ้อง ผมไม่มีทางทำ แต่ถ้าตอนนั้นผบ.ตร.จะสั่งไม่ฟ้อง ผมก็ไม่ว่าอะไร ผมบอกว่าเป็นอำนาจของท่าน กรณีนี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับการทำคดี หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนสั่งฟ้องมา มาถึงผบ.ตร.ก็มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องก็ได้ แต่ก็มีคำถามว่าจะทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไร กรณีนี้ถ้าคนรู้จักผม จะเดาออกว่าผมตัดสินใจอย่างไร ขอให้มีเหตุผลตอบสังคมได้ ไม่กังวลไม่หนักใจหรอก ผมเคยทำคดีสำคัญของประเทศมามาก กดดันยิ่งกว่านี้ เสื้อเหลืองผมก็จับ เสื้อเหลืองผมก็จับ จับหมดทุกฝ่าย จะบอกให้คนศรัทธาเรา แล้วเรามาเลือกข้างเลือกฝ่าย อย่างนี้ไม่ได้"ผบ.ตร.กล่าว และว่า เชื่อว่าผู้หลักผู้ใหญ่เข้าใจดี ที่ผ่านมาตนให้เกียรติ พ.ต.ท.ทักษิณ มาโดยตลอด ว่าท่านเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมาไม่มีการต่อสายตรง หรือมีการต่อรองในเรื่องนี้เลย ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ติดตามข่าวสาร ท่านดูอยู่ เชื่อว่าท่านเข้าใจ
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า มติการถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชัดเจนเรียบร้อย ส่วนอำนาจตามกฎหมายเป็นอำนาจของ ผบ.ตร. ส่วนตนในฐานะคณะทำงานได้รับมอบหมายให้พิจารณาว่าเกี่ยวกับระเบียบ หรือกฎหมายในเรื่องนี้หรือไม่ แต่ในส่วนของคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการพิจารณาเรียบร้อยแล้วก็เป็นเอกฉันท์ ในส่วนของความผิดที่อดีตนายกทำผิดนั้น ได้ส่งข้อมูลให้สื่อมวลชนเรียบร้อยแล้ว ตนพร้อมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไม่มีความกังวล แม้ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากได้พิจารณาแบบตรงไปตรงมาตามข้อกฎหมาย ใครมาดูก็คงเข้าใจ ถ้าคนได้มีการศึกษาข้อมูลและได้ดูในข้อกฎหมายต่างๆ มาเป็นบอร์ดในการพิจารณาก็คงเข้าใจในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏ พฤติกรรมปรากฏ ข้อกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องปรากฏ โดยได้พิจารณาองค์รวมทั้งหมดทุกๆด้าน ไม่ว่าเจตนารมณ์ของระเบียบและข้อกฎหมายต่างๆ