“ดีเอสไอ” เตรียมส่งเรื่องทุจริต สกสค. 3,000 ล้าน ให้ ป.ป.ช.ฟันข้าราชการ และบริษัท บิลเลี่ยนฯ หลังพบปล่อยกู้ไม่ผ่านมติบอร์ด และไม่มีการค้ำประกันจากธนาคาร เผยหลักทรัพย์ค้ำปลอมหลายรายการ
จากกรณีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กรณีการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) กับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งอาจมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทุจริตหรือไม่
วันนี้ (4 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทร์ขาว รองอธิบดีเอสไอ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2554 เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ในขณะนั้น ได้มีการยกเลิกระเบียบ สกสค. ว่าด้วยเรื่องกองทุนส่งเสริมความมั่นคงตามโครงสร้างสวัสดิการเงินกู้สำหรับสมาชิก ช.พ.ค. พ.ศ. 2549, ระเบียบ สกสค.ว่าด้วยกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. พ.ศ. 2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. 2552) เพื่อออกระเบียบ สกสค.ว่าด้วยเงินกองทุน ช.พ.ค. 2554 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแก้ไขประธานคณะกรรมบริหารกองทุน ซึ่งเดิมคือเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการ ช.พ.ค. โดยมีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง จากเดิม 4 ปี เป็น 6 ปี ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งนานกว่าเลขาธิการ สกสค. ดังนั้นจึงเป็นการออกระเบียบที่ขัดกับระเบียบที่ขัดต่อ พ.ร.บ.สภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546
นอกจากนี้ เมื่อเดือน เม.ย. พ.ศ. 2556 บริษัท บิลเลี่ยนฯ จำกัด ได้เสนอโครงการโดยร่วมกับโครงการเทอดไท้องค์ราชันร่วมร้อยดวงใจถวายพ่อของแผ่นดิน โดยประสงค์ให้กองทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยนฯ จำกัด และกองทุนจะได้รับผลประโยชน์ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 7 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี 1 วัน ซึ่งต่อมา ช.พ.ค.ได้มีการซื้อตั๋วสัญญาจากบริษัทดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2556 จำนวน 500 ล้านบาท โดยมีธนาคารแลดน์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกัน ส่วนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 จำนวน 2,100 ล้านบาท และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2557 จำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ครั้งหลังนี้ ไม่มีการรับประกันตั๋วสัญญาใช้เงินจากธนาคารแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ระเบียบ พ.ร.บ.สภาครูฯ ได้กำหนดไว้ว่า การจะร่วมลงทุนใดๆ สามารถทำได้ แต่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สกสค.ซึ่งการปล่อยกู้ทั้ง 3 ครั้งนี้ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าได้รับการอนุมัติจาก สกสค. และตามระเบียบว่าด้วยข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค.ว่าด้วยการเงิน การบัญชี ทรัพย์สิน และงบประมาณ พ.ศ. 2547 ข้อ 9 (5) ซึ่งระบุชัดเจนว่าต้องมีการค้ำประกันจากธนาคารที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ การปล่อยเงินกู้จำนวน 400 ล้านบาท และ 2,100 ล้านบาท ก็ไม่มีการค้ำประกันจากธนาคารแต่อย่างใด
“สำหรับการโอนเงิน 600 ล้าน จากจำนวน 2,100 ล้านบาท โดยโอนให้กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ จำกัด จำนวน 2 ครั้ง วงเงิน 440 ล้านบาท ให้นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา 1 ครั้ง จำนวน 40 ล้านบาท และมีการถอนเป็นเงินสดอีกจำนวน 120 ล้านบาท ภายในวันเดียวกันคือวันที่ 27 ธ.ค. 2556 ทางพนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการตกลงกันล่วงหน้ากับธนาคารหรือไม่ เนื่องจากการทำธุรกรรมดังกล่าวทำหลังจากการอนุมัติเพียง 1 วัน และการเบิกเงินจำนวนมากจะต้องประสานธนาคารอย่างน้อย 1 วัน ขึ้นไปเพื่อให้ทางธนาคารทำเรื่องขอเบิกเงินไว้ก่อนล่วงหน้า” รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลหลักทรัพย์ที่ บ.บิลเลี่ยนฯ นำมาค้ำประกัน เบื้องต้นมี 7 รายการพบว่า 1. ตั๋วแลกเงิน (ดราฟต์) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เลขที่ 33603330 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 จำนวน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้มีการตรวจสอบกับธนาคาร HSBC แล้วได้รับการยืนยันว่าเป็นเอกสารปลอม 2. ใบค้ำประกันของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 ฉบับ ได้มีการตรวจสอบกับธนาคารในเบื้องต้นแล้วได้รับคำตอบว่าน่าเชื่อว่าเป็นเอกสารปลอมเนื่องจากรูปแบบเอกสารผิดไปจากรูปแบบมาตรฐานของธนาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดบางส่วนในเอกสารเพิ่มเติม 3. ใบหุ้นสโมสร THE READING FOOTBALL CLUB เลขที่ RFC000168 มูลค่า 50 ล้านปอนด์ ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบข้อมูลว่านายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของสโมสรเรดดิ้งแต่อย่างใด 4. เงินสกุลดีนา (โครเอเชีย) จำนวน 950,000,000 HRK (เก้าร้อยห้าสิบล้านเหรียญโครเอเชีย) จากการตรวจสอบในเบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลว่าธนบัตรทั้งหมดน่าจะเป็นของจริง แต่เป็นธนบัตรที่มีการยกเลิกการใช้แล้ว ต้องทำการตรวจสอบเพิ่มเติมไปทางประเทศโครเอเชียว่ายังสามารถนำไปแลกคืนได้หรือไม่ และมีมูลค่าปัจจุบันจำนวนเท่าใด
5. โฉนดที่ดิน จำนวน 33 แปลง และ น.ส.3 จำนวน 16 แปลง ในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี พบว่ามีใบประเมินราคาจากกรมที่ดินว่ามีมูลค่าประเมิน 37 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด รวมถึงมูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบัน 6. เช็คธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0482284 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2557 มูลค่า 2,100 ล้านบาทอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และ 7. สัญญาค้ำประกันตนเองของนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ต้องมีการสอบปากคำนายสัมฤทธิ์ ในประเด็นการจัดทำเอกสารฉบับนี้ต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการของอดีตผู้บริหาร สกสค.และคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติและร่วมดำเนินการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และในส่วนของบริษัท บิลเลี่ยนฯ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในการทำธุกรรมดังกล่าวนั้นมีส่วนในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการกระทำความผิด โดยดีเอสไอคาดว่าจะสรุปเรื่องส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายในสัปดาห์นี้ และจะประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการในตามกฎหมายฟอกเงินด้วย