xs
xsm
sm
md
lg

จับแชร์ลอตเตอรี่ภาคเหนือ มูลค่าความเสียหายกว่า 700 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


DSI จับขบวนการแชร์ลอตเตอรี่ในพื้นที่ภาคเหนือ พบมูลค่าความเสียหายกว่า 760 ล้านบาท เข้าตรวจค้น 7 จุด ได้ผู้ต้องหา 2 ราย มีพฤติการณ์ชักชวนเหยื่อร่วมลงทุนซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาทุนเพื่อไปจำหน่ายต่อ



วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 5 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ และพ.ต.ท.สมพร ชื่นโกมล ผอ.สำนักคดีพิเศษภาค 5 ร่วมกันแถลงผลจับกุมขบวนการแชร์ลอตเตอรี่ จ.เชียงใหม่-ลำพูน สร้างความเสียหายประมาณกว่า 760 ล้านบาท

นางสุวณากล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ผสานกำลังร่วมกับสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 5 ทำการจับกุมผู้ต้องหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยการตรวจค้นและจับกุมครั้งนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 รายที่บ้านพักในพื้นที่ จ.ลำพูน คือ นางรสสุคนธ์ ฟองมูล หรือนันท์ธนิษฐ์ อินทนนท์ ผอ.กองคลัง อบต.ป่าสัก จ.ลำพูน และนายสิทธิโชค ดวงตาสิทธิ์ สามีของนางวารุณี นอกจากนี้ มีผู้ต้องหาติดต่อเข้ามอบตัวอีก 1 ราย คือ นางณัฏฐ์ธมน มูลสม ข้าราชการสำนักปลัดเทศบาลตำบลทาปลาดุก จ.ลำพูน ส่วนนายธงชัย ช่อประดิษฐ์ ผู้ต้องหาอีกรายซึ่งเป็นหัวหน้าสายขณะนี้เจ้าหน้าที่รอให้เข้ามามอบตัว โดยเจ้าหน้าที่พบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผลจากการเข้าตรวจค้นในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 7 จุด

ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์กล่าวว่า จากการสอบสวนพบว่า นางวารุณี ดวงตาสิทธิ์ ได้ร่วมกับ นางรสสุคนธ์, นางณัฏฐ์ธมน, นายธงชัย และนายสิทธิโชค ในการกระทำโฆษณาและชักชวนประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง มาร่วมลงทุนซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาทุนเพื่อไปจำหน่ายต่อ ซึ่งจะได้รับผลกำไรเป็นจำนวนมาก มีการกำหนดแผนลงทุนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปนำเงินมาร่วมลงทุน โดยทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายร่วมทุน ซึ่งมีแผนการลงทุนคือ ลงทุนเป็นหุ้น ราคาหุ้นละ 38,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นการลงทุนในสลากกินแบ่งจำนวน 5 เล่ม พร้อมเสนอผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนเป็นรายงวดซึ่งเป็นผลกำไรที่ได้จากการขายสลากเป็นรายงวด ในทุกงวดที่มีการออกรางวัล งวดละ 1,000 บาทต่อ 1 หุ้น และลงทุนโดยไม่กำหนดจำนวนเงินลงทุน โดยเสนอผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนอ้างว่าเป็นผลกำไร ที่ได้จากการขายสลากกินแบ่งให้แก่ผู้ลงทุนเป็นรายงวด ทุกงวดที่มีการออกรางวัลในอัตราร้อยละ 2.0-2.5 ของเงินลงทุนต่องวด ซึ่งแผนการลงทุนดังกล่าวผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตลอดไปจนกว่าจะมีการยกเลิกสัญญา (ถอนหุ้น) อันเป็นการเสนอจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 46.32 ถึง 59.50 ต่อไป ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่กฎหมายที่พึงจะจ่ายได้

“ในการชักชวนลงทุน หัวหน้าสายจะมีการโฆษณาชวนเชื่อในผลกำไรที่ได้จากการขายสลากกินแบ่งเมื่อร่วมลงทุน เพื่อให้ทุกคนหลงเชื่อและร่วมลงทุนซื้อขายสลากกินแบ่งดังกล่าว อีกทั้งยังแนะนำสถานที่เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุนและวิธีการต่างๆ เพื่อให้หาเงินนำมาร่วมลงทุน ซึ่งพฤติการณ์ของหัวหน้าสายที่ได้กระทำต่อกลุ่มผู้เสียหาย มีวิธีการแตกต่างกันหลายวิธี เช่นทำการชักชวนผู้ลงทุนจะให้ผู้ลงทุนชำระเงินโดยวิธีการโอนเงินหรือนำฝากเงินเข้าบัญชีของนางวารุณีโดยตรงและนำเอกสารหลักฐานการโอนเงินหรือนำฝากเงินไปที่บ้านนางวารุณี พร้อมกับหัวหน้าสายเพื่อทำสัญญาต่อไป” ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ3 กล่าว

พ.ต.ท.สมบูรณ์กล่าวอีกว่า หัวหน้าสายที่ทำการชักชวนผู้ลงทุนจะเป็นผู้พาผู้ลงทุนไปที่บ้านของนางวารุณี โดยผู้ลงทุนจะมอบเงินสดตามจำนวนที่ลงทุนให้แก่นางวารุณีโดยตรงและทำสัญญา ทั้งนี้ในการชักชวนผู้ลงทุน จะให้ผู้ลงทุนชำระเงินโดยวิธีการโอนเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีของนางวารุณีโดยตรงและเป็นผู้เก็บเอกสารหลักฐานการโอนเงินหรือนำฝากเงินไว้ และนำสัญญามาให้แก่ผู้ลงทุนในภายหลัง ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือให้ผู้ลงทุนชำระเงินโดยการโอนเงินเข้าบัญชีของหัวหน้าสาย จากนั้นนำเอกสารหลักฐานการโอน ให้หัวหน้าสายทำสัญญาให้กับผู้ลงทุนในทันทีที่บ้านของหัวหน้าสายหรือ ณ สถานที่ใดๆ ที่นัดหมายกัน โดยหัวหน้าสายรายนั้นๆ จะมีเอกสารแบบฟอร์มสัญญา ซึ่งยังไม่ได้กรอกรายละเอียด แต่มีรายชื่อของนางวารุณี ลงในสัญญาแล้ว และมีสำเนาเอกสารบัตรประชาชนและสำเนาบัตรประจำตัวคนพิการของนางวารุณี ที่มีการรับรองความถูกต้องโดยหัวหน้าสายจะเป็นผู้กรอกรายละเอียดในสัญญาตามจำนวนที่ผู้ลงทุนได้ลงทุนจำนวน 2 ฉบับ ที่ถูกต้องตรงกัน และจะมอบให้ผู้ลงทุน 1 ฉบับ พร้อมกับเอกสารของนางวารุณี และเก็บอีกฉบับหนึ่งไว้

ทั้งนี้ จากการสอบสวนพบว่า นางวารุณีได้รับสิทธิ (โควตา) ในการซื้อสลากกินแบ่งไปจำหน่ายเพียง 65 เล่ม แบ่งเป็น ส่วนตัวจำนวน 20 เล่ม มูลค่าประมาณ 74,400 บาท และในนามของนายกสมาคมพัฒนาคนพิการจังหวัดลำพูน จำนวน 45 เล่ม มูลค่า 238,200 บาท ต่องวดเท่านั้น โดยกรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวน 611 ราย โดย นางวารุณีได้ระดมทุนเต็มจำนวนหุ้นมากกว่า 20,000 หุ้น เป็นเงินมากกว่า 760 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าจำนวนเงินที่ใช้ซื้อสลากกินแบ่งตามสิทธิที่นางวารุณีได้รับ ดังนั้น พฤติการณ์ของนางวารุณีกับพวกจึงเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย

คณะพนักงานสอบสวนจึงได้ขอหมายจับหัวหน้าสาย และผู้ที่ร่วมกระทำความผิดรวม 4 ราย โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จับกุมผู้ต้องหาไว้แล้วจำนวน 10 ราย และได้ขยายผลสู่การจับกุมในครั้งนี้ รวมทั้งได้ยึดอายัดเงินในบัญชีของนางวารุณีไว้มูลค่ากว่า 1,000,000 บาท บ้านพักและที่ดินจำนวน 8 แปลง นอกจากนี้ ดีเอสไอจะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีฟอกเงินด้วย และในระหว่างนี้ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ได้ขอยื่นประกันตัว โดยนางรสสุคนธ์ และนางณัฏฐ์มน ได้ใช้ตำแหน่งข้าราชการในการประกันตัว ส่วนนายสิทธิโชคได้ใช้ที่ดินมูลค่า 500,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว ซึ่งทางดีเอสไอได้อนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่ของดีเอสไอเมื่อช่วงปี 2554 มีคดีเกิดขึ้นกว่า 10 คดี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในภาคอีสานทั้งหมด มีมูลค่าความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดได้ส่งเรื่องให้กับอัยการในปี 2555 เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น