กรมราชทัณฑ์ เซ็น MOU 4 หน่วยงาน หนุนการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาแก่ผู้ต้องขัง เรือนจำบางขวาง นำร่องโดย มมร. เปิดหลักสูตรป.ตรี สาขาพุทธศาสตร์
วันนี้ (9 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่เรือนจำบางขวาง กรมราชทัณฑ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) มหาบาลีวิชชาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พระราชบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พระราชปริยัติโมลี ประธานบริหารมหาบาลีวิชชาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง และศาสตราจารย์พิเศษคุณหญิง แม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง
นายวิทยา กล่าวว่า การจัดพิธีลงนามดังกล่าว เพื่อเป็นการสนองพระราชกระแสรับสั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง และสามารถนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเพิ่มพูนคุณวุฒิทางการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง สามารถนำวุฒิการศึกษาไปศึกษาต่อ หรือไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มมร. ในการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรศาสนศาสตร์บัณฑิต (ศน.บ.) สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ให้แก่ผู้ต้องขัง โดยมีเรือนจำบางขวางเป็นเรือนจำนำร่อง และจะขยายไปยังเรือนจำอื่น หรือทัณฑสถาน อีก 143 หน่วย ต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของมหาบาลีวิชชาลัยได้เปิดการเรียนการสอนให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เรือนจำ อ.แม่สอด มีผู้เรียน 50 คน เรือนจำบางขวาง มีผู้เรียน 30 คน และทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ต้องขังเรียนจำนวน 36 คน
สำหรับสมาคมห้องสมุดฯ ได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในการจัดอบรมหลักสูตรผู้ช่วยบรรณารักษ์ให้กับผู้ต้องขัง และสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นห้องสมุดพร้อมปัญญาเรือนจำบางขวางจำนวน 1 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง โดยสถาบันคอมพิวเตอร์ได้สนับสนุนการฝึกอบรมวิชาชีพคอมพิวเตอร์หลักสูตรต่างๆ ให้แก่ผู้ต้องขัง อาทิ การเขียนเว็บไซต์
อย่างไรก็ตาม การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นธรรมะ หรือวิชาการต่างๆ เป็นการให้โอกาสและเป็นทางเลือกแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 330,000 รายทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นนักโทษต่างชาติประมาณ 2 หมื่นคน ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะคุมขังผู้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาล แต่ยังมีหน้าที่ในการฟื้นฟูผู้ต้องขังเหล่านี้ เพื่อคืนคนดีสู่สังคม โดยตนเชื่อว่าในการปล่อยนักโทษเมื่อพ้นโทษ หากเขาเหล่านี้ไม่ได้รับอะไรไปเลย ก็จะเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศอีกด้วย
ด้าน นายคิดดี (นามสมมติ) ผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวาง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ว่า ตนถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาฆ่าผู้อื่น ซึ่งจำคุกมาแล้วเป็นเวลา 20 ปี ขณะนี้ได้รับการลดโทษเหลือ 17 ปี โดยระหว่างถูกคุมขังตนได้ให้ความสำคัญกับการเรียน และได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว 3 สาขาวิชา ขณะนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.) สาขาวิชาพุทธศาสตร์ โดยเรียนมาแล้ว 1 ปี ทั้งนี้ ผลการเรียนที่ผ่านมา มีผลการเรียนระดับบีบวก ถึงเอ
“น้อยใจสังคม ที่สร้างกำแพงกั้นระหว่างผู้เคยทำผิดไว้สูงมาก ผมอยากให้สังคมให้โอกาสเมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว เพราะบางคนไม่ได้เลวโดยสันดาน และเกิดจากความผิดพลาดในชีวิต หากสังคมไม่กล้าให้โอกาสแล้วคนที่เคยก้าวพลาดจะไปอยู่อย่างไร ที่ผ่านมา มองว่า นักโทษส่วนใหญ่ในนี้มีความสำนึกผิด โดยคนที่ไม่สำนึกผิดเลยผมมองว่าไม่ใช่คนแล้ว และอยากให้เห็นถึงคนในนี้ที่มีความตั้งใจเรียนจริงๆ ว่ายังมีอยู่จริง และอยากขอโอกาส” นายคิดดี กล่าว
นายคิดดี เผยต่อว่า นักโทษที่เรียนร่วมสาขาเดียวกับตน จำนวน 25 คน ส่วนใหญ่มีความคิดภายหลังพ้นโทษที่จะบวชตลอดชีวิต และจะไม่ท้อในการทำความดี แม้ว่าคนจะมองว่าเคยผ่านคุกมาก็ตาม