สถาบันนิติวิทย์ลงพื้นที่ตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติให้แก่ผู้ด้อยโอกาสที่ไร้สถานะทางทะเบียน (บุคคลตกหล่น) อ.แม่ระมาด จ.ตาก จำนวนกว่า 200 ราย เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่บุคคลเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่พึงมีพึงได้
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองโฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายแพทย์สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และนายไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมแถลงผลการตรวจสารพันธุกรรมแก่ราษฎรที่ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อการเข้าถึงบริการรัฐและส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาส
สืบเนื่องจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับการประสานจากที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด จ.ตาก ว่ามีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนบ้านซึ่งหลักฐานประกอบการพิจารณายังไม่อาจพิสูจน์สถานะบุคคลว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมกับบิดามารดา หรือญาติในลำดับใกล้ชิดที่มีสัญชาติไทย แต่จากข้อมูลประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งมีสภาพเป็นภูเขา การคมนาคมมีความยากลำบาก จึงยากต่อการเดินทางมาติดต่อราชการ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านการสื่อภาษา เนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีภาษาถิ่นเป็นภาษาประจำเผ่าใช้ในชีวิตประจำวัน และยังได้รับการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง เช่น การแจ้งเกิด ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อ.แม่ระมาด ให้สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงจัดกิจรรมการตรวจสารพันธุกรรมแก่ราษฎรที่ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ขึ้น
นายแพทย์สุรณรงค์กล่าวว่า เบื้องต้นมีผู้ขอเข้ารับการตรวจในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด 346 ราย เป็นบุคคลที่ไร้สถานะทางทะเบียน (บุคคลตกหล่น) จำนวน 237 ราย และบุคคลอ้างอิง (คู่ตรวจ) จำนวน 109 ราย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ขอเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรมที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมได้ทั้งหมด 290 ราย แบ่งเป็นบุคคลที่ไร้สถานะทางทะเบียนจำนวน 204 ราย และบุคคลอ้างอิงจำนวน 86 ราย
ต่อมาเมื่อวันที่ 17-18 มี.ค.ที่ผ่านมา พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคล โดยมีประชาชนเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรมจำนวน 267 ราย แบ่งเป็นบุคคลที่ไร้สถานะทางทะเบียนจำนวน 189 ราย และบุคคลอ้างอิงจำนวน 78 ราย ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐบาลมีกองทุนดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หากค่าใช้จ่ายคิดตามจริงจะตกรายละ 6,000 บาท แต่ถ้าเป็นเอกชนราคาอาจสูงกว่านี้
ด้านนายไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การพิสูจน์สถานะบุคคลด้วยวิธีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเหลือและสร้างความเป็นธรรมแก่บุคคลเหล่านี้ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่พึงมีพึงได้ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อน การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ของกระทรวงยุติธรรม โดยกลุ่มผู้ไร้รัฐ ชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้แสวงหาที่พักพิงสำหรับหนีภัยการสู้รบ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคม และเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ต้องได้รับการส่งเสริม คุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้มีสิทธิที่เท่าเทียม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี และร่วมเป็นกำลังในการสร้างสรรค์สังคมไทยสู่สังคมสันติสุข ตามเป้าหมายของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ต่อไป