ฎีกากลับให้ยกฟ้อง “อดีต ผอ.ร.ร.สามเสนฯ” ถูกฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบไม่ยื่นแบบประเมินข้าราชการครู ศาลชี้คำฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด
ที่ห้องพิจารณา 713 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (26 ม.ค.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.2908/2552 ที่นายชาญวิทย์ เศรษฐพานิชผล ครู คศ.3 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย (ตำแหน่งขณะฟ้อง ปี 2552) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิศรุต สนธิชัย อดีต ผอ.โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 165
โจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า ขณะเกิดเหตุ ปี 2549 โจทก์มีตำแหน่งเป็นครูชำนาญการ ได้ยื่นแบบการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะชำนาญการกรณีพิเศษ (ครูแกนนำหรือครูต้นแบบ) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ให้จำเลยตรวจสอบและรับรองในฐานะผู้บังคับบัญชาชั้นต้นแล้ว จำเลยเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องและเป็นความจริง แต่จำเลยกลับไม่ดำเนินการให้โจทก์ตามขั้นตอน ทั้งที่มีหน้าที่ส่งแบบประเมินของโจทก์ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 โดยเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2549 จำเลยได้ถอนชื่อโจทก์ออกจากบัญชีรายชื่อข้าราชการครูที่ยื่นคำ ทำให้ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ขณะที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2553 ให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 157 และ 165 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ขณะที่จำเลยยื่นฎีกา ซึ่งจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างสู้คดี
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมกันแล้วมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัย ว่าคำฟ้องโจทก์มิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งจำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้มีความเสียหายกับโจทก์ หรือจำเลยแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่นอย่างไร
ศาลฎีกาเห็นว่าคำฟ้องโจทก์มีใจความเพียงว่า จำเลยเจตนาจงใจไม่ยอมเสนอคำขอของโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามหน้าที่ของตน กระทั่งโจทก์ขาดสิทธิที่จะได้รับการประเมินคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวมุ่งหมายให้โทษ เฉพาะเหตุที่จำเลยปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่องค์ประกอบของความผิดดังกล่าวจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการที่จำเลยละเว้นการปฏิบัตินั้นทำไปด้วยเจตนาพิเศษดังกล่าวหรือไม่ คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดองค์ประกอบความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นพิพากษากลับให้ยกฟ้อง