“วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์” ปธ.คณะทำงานร่วมอัยการพิจารณาคดีจำนำข้าว งงข่าว ป.ป.ช.เห็นควรสั่งฟ้องอดีตนายกฯ “ปู” ชี้ขั้นตอนยังไม่สิ้นสุด ระบุนัดประชุมฝ่ายอัยการอีกครั้ง 26 ม.ค.นี้ ก่อนประชุมใหญ่คณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.
วันนี้ (21 ม.ค.) นางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้ากรณีที่คณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่าเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ทางคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช.ได้มีการประชุมหารือกันเกี่ยวกับสำนวนคดีดังกล่าว เเต่เป็นเพียงเเค่การประชุมเพื่อให้คณะทำงานร่วมได้รับทราบข้อมูลจากการที่สอบพยานเพิ่มเติม ตามความเห็นของนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ที่สั่งให้มีการสอบพยานเพิ่มเติมเท่านั้น จากนั้นก็จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดนำเสนอผู้บังคับบัญชาของเเต่ละฝ่ายทั้งฝ่ายอัยการและทางฝ่าย ป.ป.ช. เพื่อให้ทางอัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร โดยจะนำความเห็นของทั้งฝ่ายอัยการและฝ่าย ป.ป.ช.ไปประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อพิจารณาว่าสำนวนสมบูรณ์เพียงพอที่จะฟ้องคดีหรือไม่และมีคำสั่งชี้ขาดต่อไป
ด้านนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานของคณะทำงานร่วมและหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายอัยการ เปิดเผยว่า ในการประชุมเมื่อวานที่ผ่านมานั้นตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากตนไม่ทราบว่าจะมีการนัดประชุมร่วมกันระหว่างทางอัยการกับ ป.ป.ช. ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าทางคณะทำงานร่วมได้มีข้อสรุปและได้ทำความเห็นเสนอต่ออัยการสูงสุดไปแล้วนั้น ตนก็ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เสนอความเห็น เพราะตนในฐานะหัวหน้าคณะทำงานของฝ่ายอัยการ และประธานของคณะทำงานร่วมก็ยังไม่ทราบเรื่องความเห็นแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในส่วนข้อที่ไม่สมบูรณ์เท่านั้น โดยตนเตรียมจะนัดคณะทำงานร่วมเฉพาะฝ่ายอัยการประชุมหารือกันในวันที่ 26 มกราคมนี้ เพื่อซักถามความเป็นมาเกี่ยวกับประเด็นที่มีการประชุมกันเมื่อวาน (20 ม.ค.) ที่ผ่านมาว่าได้มีข้อสรุปอย่างไรบ้าง รวมทั้งทำไมถึงไม่แจ้งตนในฐานะประธานคณะทำงานร่วมว่ามีการนัดประชุมกันให้รับทราบ อย่างไรก็ตาม หลังจากนัดประชุมคณะทำงานฝ่ายอัยการแล้วก็จะเรียกประชุมคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายเพื่อพูดคุยกันในรายละเอียดอีกครั้งต่อไป
“ผมก็อยากให้ทำตามขั้นตอนเพื่อเคลียร์กันให้ชัดเจน ไม่อยากให้เป็นข้อครหาของประชาชน โดยจะนัดฝ่ายอัยการประชุมในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ก่อนจะนัดประชุมคณะทำงานร่วมอีกครั้ง ส่วนเรื่องการเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดนั้น ตนไม่ได้เป็นผู้เสนอ ส่วนใครเป็นผู้เสนอนั้นตนไม่ทราบ” ประธานคณะทำงานร่วมกล่าว
เมื่อถามว่าหากมีการเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดจริง โดยที่ประธานคณะทำงานร่วมไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมด้วย จะมีผลอย่างไรหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครเสนอ แต่ตนไม่ได้เป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าว
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมพวกรวม 21 คน กรณีการทุจริตต่อหน้าที่ในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในโครงการรับจำนำข้าว ว่าทางคณะทำงานอัยการจะนัดประชุมหารือกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมอบสำนวนคดีดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานมาจากทางฝั่ง ป.ป.ช.ว่าจะส่งสำนวนให้อัยการเมื่อใด
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่ทางฝั่ง ป.ป.ช.ให้ข่าวต่อสื่อมวลชน การประชุมนัดเมื่อวานที่ผ่านมาสืบเนื่องจากเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ทาง ป.ป.ช.ได้ส่งเอกสารแฟลกซ์เพื่อนัดหมายให้มีการประชุมคณะทำงานร่วม ทางฝ่ายอัยการในคณะทำงานร่วมหลายท่านก็ต่างติดภารกิจอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้มีการนัดล่วงหน้ามาก่อน จึงมีเพียงแค่คณะทำงานจากฝ่ายอัยการจำนวน 3 ท่านที่เข้าร่วมประชุมกับทางฝ่าย ป.ป.ช.เท่านั้น ดังนั้นการที่ทาง ป.ป.ช.ออกมาให้ข่าวว่าคณะทำงานร่วมมีมติดังกล่าวแล้วนั้นจึงไม่ถูกต้องตามหลักขั้นตอนตามกฎหมาย ทางคณะทำงานร่วมมีหน้าที่เพียงพิจารณาพยานหลักฐานที่ทำการสอบสวนเพิ่มเติมร่วมกันว่ามีความสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่กรณีการมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ เพราะความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อยู่ที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด
เมื่อถามว่า ในการประชุมเมื่อวานซึ่งคณะทำงานร่วมไม่ได้เข้าประชุมหลายท่าน หากมีการเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดจริง จะมีผลต่อการพิจารณาสำนวนคดีหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า การนำเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุด จำนวนผู้ที่เข้าร่วมประชุมว่าครบองค์ประชุมหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพียงแต่จะต้องมีตัวแทนที่ได้รับมอบหมายของคณะทำงานร่วมทั้งฝ่ายอัยการและฝ่าย ป.ป.ช.ซึ่งความเห็นของคณะทำงานร่วมไม่ใช่เป็นการชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ เพราะแต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่อัยการสูงสุดว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งหากทางอัยการสูงสุดมีความเห็นเป็นอย่างไรก็จะถือว่าเป็นการชี้ขาดและเป็นที่สิ้นสุด