xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ศาลยุติธรรม จ่อแก้ กม.เพิ่มโทษอาชญากรใช้เด็กกระทำความผิด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลงานปี 57 เผยเตรียมแก้ กม. กักขังแทนค่าปรับ และเพิ่มโทษองค์กรอาชญากรที่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือกระทำผิดกฎหมาย ส่วนคลิปฟิตเนสฉาวอยู่ระหว่างตรวจสอบ หากมีผู้พิพากษาเกี่ยวข้อง ก็จะตั้ง กก. สอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 10 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2557 ว่า ในปีที่ผ่านมาศาลยุติธรรมได้เร่งรัดพิจารณาคดีพิพากษาด้วยการเปิดโครงการศาลนอกเวลาราชการ ทั้งในวันทำการปกติและวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ ซึ่งช่วยให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และลดปัญหาความล่าช้าในการอำนวยความยุติธรรม โดยการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลฎีกาในปีงบประมาณ 2557 พิจารณาพิพากษาเสร็จทั้งสิ้น 122,228 คดี จากจำนวนคดีที่ขอเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการทั้งสิ้น 156,797 คดี คิดเป็นร้อยละ 77.86 นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดการระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ยควบคู่ไปกับการพิจารณาพิพากษาคดีปกติ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาทางเลือกในการสนับสนุนให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งการระงับข้อพิพาทดังกล่าวมีใช้ทั้งศาลสูงและศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร รวม 248 ศาล โดยที่ผ่านมามีคดีแพ่งเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ย 180,546 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 137,211 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์ 298,657,104,927.58 บาท ส่วนคดีอาญามีคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยรวม 9,318 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,655 คดี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าได้คู่ความได้รับการเยียวยาทางทางแพ่งเร็วขึ้น คดีสิ้นสุดโดยคู่ความมีค่าใช้จ่ายลดลง เพราะระยะเวลาในการพิจารณาคดีสั้นลง

สำหรับในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สำนักงานศาลยุติธรรมสามารถผลักดันให้ศาลในพื้นที่ทั้ง 8 แห่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารคดีที่ค้างอยู่ให้ลดลง โดยไม่มีคดีที่ค้างพิจารณาเกินกว่า 4 ปี ขณะที่คดีที่ค้างพิจารณาเกินกว่า 6 เดือน - 3 ปี ก็ลดลง อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศาลเพื่อกระจายความยุติธรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค เช่น ศาลจังหวัดพิมาย ศาลจังหวัดวิเชียรบุรี และศาลแขวงดอนเมือง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะเดินหน้าเปิดศาลในเขตอำเภอ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การเปิดศาลเยาวชนฯ ที่อำเภอทุ่งสง เนื่องจากปกติหากมีคดีประชาชนต้องเดินทางไปถึงศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ นอกจากนี้ จะเปิดกลุ่มงานคดีท่องเที่ยวเพิ่มที่ศาลจังหวัดกระบี่ และศาลจังหวัดเชียงใหม่

นายภัทรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายเรื่อง เช่น เสนอปรับระบบอุทธรณ์-ฎีกา ที่เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาของศาลชำนัญพิเศษทั้งระบบ ที่คดีใดจะขึ้นสู่ศาลฎีกาจะต้องได้รับการพิจารณาอนุญาตจากศาลฎีกาก่อนว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆ ซึ่งเป็นหลักการที่นานาประเทศยอมรับ รวมถึงในส่วนของคดีอาญาได้เสนอแก้ไขกฎหมายลดการกักขังแทนค่าปรับ ให้มีการปรับปรุงวิธีการยึดทรัพย์ที่จะนำมาใช้เป็นค่าปรับให้มีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้มีการใช้วิธีทำงานบริหารสังคมแทนค่าปรับในคดีที่ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 8 หมื่นบาท และในกรณีที่จำเป็นให้มีการกักขังแทนค่าปรับจะเพิ่มอัตราค่ารับจากเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้ 200 บาทต่อวัน จะเพิ่มเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาในการถูกกักขังลดลง นอกจากนี้ ยังเพิ่มโทษกับผู้ที่ใช้เด็ก เยาวชน ผู้พิการ หรือบุคคลที่อ่อนด้อยกว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มมิจฉาชีพ หรือองค์กรอาชญากรรมไปกระทำผิด ซึ่งการพิจารณากฎหมายดังกล่าวได้มีการเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยคาดว่าน่าจะมีการพิจารณากฎหมายเสร็จเพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาบังคับใช้ได้ทัน และยังให้มีการแก้กฎหมายที่จะนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้ควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยทีได้รับการปล่อยชั่วคราว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่หลบหนี หรือเข้าไปในพื้นที่อยู่ของผู้เสียหาย ซึ่งจะทำให้การพิจารณาประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวได้มากขึ้น โดยใช้หลักประกันลดลง อีกทั้งได้เสนอแก้กฎหมายลดการจำคุก โดยให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษแก่จำเลยที่ไม่สมควรถูกจำคุกได้มากขั้น และให้มีวิธีปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยของจำเลยในระหว่างคุมความประพฤติหลากหลายมากขึ้น สำหรับคดีแพ่งได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ศาลในต่างจังหวัดสามารถโดนคดีสำคัญที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เช่น คดีสิ่งแวดล้อมหรือคดีผู้บริโภค มายังศาลแพ่งที่มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ขณะที่ในปี 2558 สำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมผลักดันให้งานยุทธศาสตร์และนโยบายของ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา “ศาลยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการในการดำรงอำนาจอธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยการอำนวยความยุติธรรมภายใต้หลักนิติธรรมด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล มุ่งเน้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยมาใช้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมของศาลยุติธรรมได้โดยง่ายภายในปี 2560” ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการกระชับความร่วมมือทางศาล การยุติธรรมและความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งภายในและต่างประเทศในระดับภูมิภาคอาเซียน และนานาชาติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการอีก เช่น การจัดทำ “ห้องสมุดต้นแบบเฉลิมพระเกียรติ” ที่จะรวบรวมงานวิชาการในวงการกฎหมาย และกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ผู้พิพากษา ข้าราชการ รวมทั้งนักศึกษาแลประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้บริหาร ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ ในวันที่ 2 เม.ย. 2558 นี้ จำนวน 9 แห่ง โดยมีห้องสมุดที่ศาลจังหวัดนครปฐม และศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ก.พ. และ มี.ค. นี้ และยังดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องในโครงการตามรอยพระราชดำรัสที่จะรวบรวมและนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้องกับศาลและกระบวนการยุติธรรมมาวิเคราะห์เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมกฎหมายให้กับประชาชนมาแล้ว 2 ครั้ง ในเรื่องการค้ำประกันและการจำนอง

ภายหลังผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการจัดตั้งตำรวจศาล หรือ คอร์ตมาร์แชล (court marshal) นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าหากจะมีการจัดตั้งขึ้นมาจริงๆ คงจะต้องมีการเสนอพิจารณาแก้ไขกฎหมายหลายฉบับรวมทั้งการจัดสรรงบประมาณ และศึกษารายละเอียดถึงโครงสร้างต่างๆด้วย โดยคาดว่าคงจะใช้รูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกับคอร์ทมาแชลในต่างประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ตนยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นในอนาคตเมื่อใด

นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงกระแสข่าวกรณีถูกทาบทามเสนอชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ตามตำแหน่งหน้าที่แล้วตนไม่ได้เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ แต่อยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ด้านธุรการ ดังนั้นหากกรณีมีการเสนอชื่อตนจริง ตามขั้นตอนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่มติที่ประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อพิจารณา แต่คงจะต้องเสนอเรื่องไปยัง นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เพื่อขออนุญาต ซึ่งถ้าหากประธานศาลฎีกาอนุญาตก็สามารถไปปฏิบัติหน้าที่เป็น คกพ. ได้

เมื่อถามต่อว่า ก่อนหน้านี้มีการเสนอชื่อ นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา เป็น กคพ. และได้ขอถอนตัวไปเอง ทางประธานศาลฎีกาได้มีนโยบายอย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า เป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งทางท่านประธานศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องของความเหมาะสม แต่กรณีของตนนั้นไม่ใช่อยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษาแล้ว ส่วนจะมีการขอถอนตัวหรือไม่นั้น คงจะต้องรอให้มีการเสนอชื่อก่อน เพราะตนยังไม่ทราบเรื่องที่มีการเสนอชื่อหรือไม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีที่เลขาธิการสำนักงานยุติธรรมไปดำรงตำแหน่ง กคพ. ส่วนเรื่องดังกล่าวจะผ่านมติของคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ก็คงจะต้องไปถามทางคณะรัฐมนตรี

ส่วนกรณีกระแสข่าวว่ามีผู้พิพากษาอยู่ร่วมในคลิปวิดีโอหญิงสาวเปลือยกายภายในร้านเอบิ เซาน่า แอนด์ ฟิตเนส นวดแผนไทย ย่านวังทองหลาง ว่า ตามหลักประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการนั้น ตุลาการจะต้องดำรงตนให้อยู่ในศีลธรรมที่ดีงาม ซึ่งภายหลังทราบเรื่องจากทางสื่อมวลชนทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าบุคคลภายในคลิปดังกล่าวเป็นผู้พิพากษาหรือไม่ มีความเกี่ยวข้องกับทางสำนักงานศาลยุติธรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนกำลังอยู่ระหว่างสืบหาข้อเท็จจริง และหากมีความชัดเจนก็จะแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น