xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” เปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขง กำจัดยาเสพติด 4 ชาติ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ประสานความร่วมมือ 4 ชาติลุ่มน้ำโขง กำจัดต้นตอปัญหายาเสพติด ชี้ผลจากการเปิดศูนย์ดังกล่าวในระยะที่ 1 สามารถทลายนักค้ายารายใหญ่ข้ามชาติในชื่อ “หน่อคำโมเดล” สำเร็จ



วันนี้ (15 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย หรือ Safe Mekong Coordination Center (SMCC) โดยมีนายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประเทศไทย (ONCB) (ป.ป.ส.) นายอัน กว๋าจุน รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (NNCC) นายบุนปอน สิริวง รองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (LCDC) และพ.ต.อ.มิ้น เต็ง รองเลขาธิการร่วมคณะกรรมการกลางเพื่อการควบคุมยาเสพติด สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (CCDAC) เข้าร่วมในพิธีเปิด

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อสานต่อการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในโครงการปฏิบัติการสืบสวนร่วมต่อต้านเครือข่ายการค้ายาเสพติดตามลุ่มน้ำโขงภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ระยะที่ 2” เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการข่าวสำหรับ 4 ประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน ลาว พม่า และไทย ในการรวบรวมข้อมูลยาเสพติดของแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์และประสานข้อมูลในทางลับเพื่อสกัดกั้นและปราบปรามจับกุมนักค้ายาเสพติดที่ลักลอบลำเลียงขนยาเสพติดผ่านประเทศสมาชิก

สำหรับแผนปฎิบัติงานที่จะต้องดำเนินการ คือ 1. ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทุกประเทศเห็นตรงกันว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ต้องเร่งช่วยกันแก้ไข 2. ปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดจะมุ่งเน้นการสกัดทางลำน้ำโขงเป็นสำคัญ เพราะเป็นเส้นทางที่มีความพยายามลักลอบเข้ามาสูง แต่จะป้องกันให้ได้ทุกมิติทั้งทางบก บริเวณชายแดนของประเทศ ท่าอากาศยาน และการขนส่งทางเรือ 3. สร้างระบบฐานข้อมูลยาเสพติดของ 4 ประเทศ โดยเฉพาะฐานข้อมูลเรือ พื้นที่เสี่ยง ข้อมูลบุคคลผู้กระทำผิด และอื่นๆ 4. กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการร่วม และมองพื้นที่ปฏิบัติการของทั้ง 4 ประเทศเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเดียวกัน พร้อมกับจัดกำลังให้สอดคล้องกันด้วย 5. วางมาตรการสกัดกั้นสารตั้งต้นและสารเคมีอย่างจริงจังในแต่ละประเทศ 6. ปัญหาการค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติด ขอให้ทุกประเทศมีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะการติดตามนักค้าที่หลบหนีข้ามประเทศ และ 7. ทำงานควบคู่กันในทุกมาตรการไม่เฉพาะการสกัดกั้นและปราบปรามผู้ค้า แต่รวมถึงการนำผู้เสพและติดยาเสพติดเข้าไปรับการบำบัดรักษา พร้อมกับติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า จากการที่เปิดศูนย์ดังกล่าวในระยะที่ 1 จนเป็นที่มาขอความสำเร็จในการปฏิบัติการทลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ข้ามชาติในชื่อ “หน่อคำโมเดล” สำเร็จ ดังนั้นในการปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันอย่างเครือข่ายของ พล.ท.ยี่เซ ก็ต้องประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติการมีความละเอียดอ่อนเรื่องพื้นที่อธิปไตยของแต่ละประเทศ ดังนั้นประเทศสมาชิกจะต้องมีความจริงใจในการที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมมือกันปฏิบัติการเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติดให้ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปัญหายาเสพติดภายในประเทศไทยที่สามารถจับกุมได้คิดเป็นร้อยละ 15 ซึ่งเป็นพื้นที่ทางภาคเหนือร้อยละ 10 โดยตนเป็นห่วงว่าจำนวนยาเสพติดที่เหลือกว่าร้อยละ 80-90 ไปอยู่ที่ไหน ดังนั้น ในการปราบปรามปัญหายาเสพติดไม่ควรแก้ไขเฉพาะภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ต้องร่วมมือกับนอกประเทศด้วย เพื่อป้องกัน ปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ภายในเดือน ก.พ.นี้จะมีการประชุมกันระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับแหล่งผลิตสารตั้งต้นยาเสพติด

ด้าน พ.ต.อ.มิน เต็ง รองเลขาธิการร่วมคณะกรรมการกลางเพื่อการควบคุมยาเสพติด สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า กล่าวว่า เรายินดีให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการปราบปรามยาเสพติด เพราะปัญหายาเสพติดไม่ได้มีเพียงประเทศเดียว โดยเราจะปราบปรามหลังจากได้รับข้อมูล

สำหรับปัญหายาเสพติดที่พบในชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่ามีการลักลอบปลูกฝิ่น ที่พบว่ามีการปลูกฝิ่นมากในช่วงปี ค.ศ. 1997-2006 โดยหลังจากนี้เราจะเข้มงวดในการปราบปรามการปลูกฝิ่น และจะนำอาชีพเข้าไปให้ชนกลุ่มน้อย เพื่อจะได้ประกอบอาชีพที่สุจริต ส่วนปัญหายาเสพติดประเภทยาบ้าที่เกิดขึ้นในประเทศพม่านั้นต้องยอมรับว่าสารตั้งตนที่นำมาผลิตยาเสพติดมีการนำเข้ามาจากหลายประเทศ ดังนั้น ทุกประเทศต้องร่วมมือกันป้องกันการนำเข้าสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดทุกประเภท ทั้งนี้ จากสถิติผู้ติดยาเสพติดในประเทศพม่า พบว่ากลุ่มผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ติดยาเสพติดประเภทฝิ่นมากกว่ายาบ้า หรือยาไอซ์

เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ว่าในประเทศพม่ามีโรงงานผลิตสารตั้งต้นของยาเสพติด พ.ต.อ.มินกล่าวว่า ยอมรับว่ามีการผลิตอยู่จริง แต่ไม่ทราบแหล่งผลิตที่แน่นอน

ขณะที่นายอัน กว๋าจุน รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (NNCC) กล่าวว่า ในการเปิดศูนย์ดังกล่าวนั้นได้ใช้การเตรียมการเป็นเวลานาน โดยหวังว่าประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศที่เข้าร่วมจะประสบความสำเร็จในการปราบปรามยาเสพติด

สำหรับปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นปัญหาที่ค่อนข้างหนัก ซึ่งมีการระบาดของยาเสพติดประเภท เฮโรอีน ยาบ้า และยาไอซ์มาก ทั้งนี้ มีประชากรชาวจีนจำนวนกว่า 3 ล้านคนที่ติดยาเสพติดและได้ลงทะเบียนไว้กับทางรัฐ นอกจากนี้ ยอมรับว่าในประเทศจีนมีโรงงานผลิตสารตั้งต้นในการผลิดยาเสพติดจริง และยังพบว่าในสถิติผู้ติดยาเสพติดมีอายุน้อยตั้งแต่อายุ 10-14 ปี

กำลังโหลดความคิดเห็น