อธิบดีศาลอาญาแถลงภาพรวมคดีปี 57 พิจารณาเสร็จสิ้น 6,586 คดี เหลือค้าง 787 คดี ประหารชีวิตคดียาเสพติด 23 คดี ชี้คดีพันธมิตรฯ กปปส.และ นปช.ไม่ล่าช้า ผิดก็ว่าไปตามผิด ส่วนคดีหมิ่นเบื้องสูง ถือเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง
ที่ห้องประชุมชั้น 10 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (9 ม.ค.) นายอธิป จิตต์สำเริง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายโชคชัย รุจินินนาท รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และนางศศิรัศมิ์ ปราณีจิตต์ เลขานุการศาลอาญา แถลงสรุปสถิติคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญา ประจำปี 2557
นายอธิป อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า สถิติคดีของศาลอาญา ในปี 2557 แบ่งเป็น 1. คดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด และ 2. คดีอาญาทั่วไป สำหรับคดียาเสพติดที่ค้างมาจากปีที่แล้วจำนวน 960 คดี เป็นคดีรับใหม่ 6,413 คดี พิพากษาคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว 6,586 คดี คงค้าง 787 คดี ซึ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดยาเสพติด เป็นคดีฟอกเงิน 35 คดี คดีมาตรการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 259 คดี และศาลพิพากษาประหารชีวิต 23 คดี คดียาเสพติดที่ศาลพิพากษาลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต 136 คดี
ส่วนคดีอาญาทั่วไป เป็นคดีค้างมาจากปีที่แล้ว 1,871 คดี เป็นคดีรับใหม่ 4,343 คดี พิพากษาคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว 4,654 คดี คงค้าง 1,560 คดี คดีอาญาที่ศาลพิพากษาประหารชีวิต 5 คดี คดีอาญาที่ศาลพิพากษาลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต 9 คดี คดีเข้าสู่การประนอมข้อพิพาท 774 คดี ประนอมข้อพิพาท 444 คดี คดีเข้าสู่ระบบสมานฉันท์ 1,397 คดี และสมานฉันท์สำเร็จ 948 คดี นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ศาลอาญายังได้จัดโครงการต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่รองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
เมื่อถามถึงแนวทางพิจารณาคดีการชุมนุมและการเมือง เกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายอธิป อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวว่า ปกติการพิจารณาคดีของทุกศาลจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ไม่แยกสี และไม่เป็นเครื่องมือของใคร ผิดก็ว่ากันไปตามผิด การพิจารณาขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ไม่สามารถพิจารณานอกเหนือจากนี้ได้ และสีเสื้อก็ไม่สามารถเปลี่ยนหลักฐานได้
นายโชคชัย รุจินินนาท รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวเสริมการบริหารจัดการพิจารณาคดีกลุ่มชุมนุมต่างๆ ว่า การพิจารณาของศาลอาญาเป็นไปตามขั้นตอนไม่ได้ล่าช้า ในส่วนคดีของกลุ่ม พธม.มีหลายคดีและมีจำเลยกว่า 90 คน อัยการได้ทยอยฟ้องเข้ามา โดยเมื่อคดีแรกเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐานก็จะมีอีกคดีที่เกี่ยวเนื่องกันถูกฟ้องเข้ามาและขอให้รวมคดี จึงต้องเริ่มนัดตรวจพยานกันใหม่ ซึ่งมีพยานหลักฐานจำนวนมากพยาน 1,000 กว่าปากที่จะต้องกลั่นกรอง นอกจากนี้ คดีดังกล่าวมีอัตราโทษสูง ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยได้ สำหรับคดี นปช.ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์แล้ว มีพยานบุคคลกว่า 100 ปาก โดยคดีชุมนุมทั้ง 2 เรื่อง มีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารจำนวนมากนับเป็นคันรถ จึงมีการประชุมนอกรอบวางกรอบการสืบพยาน โดยให้คู่ความทั้งสองตกลงร่วมกันเรื่องบัญชีพยาน ถึงแม้ว่าจะมีการเสนอพยานบุคคล 100 ปาก แต่เมื่อสืบพยานตกลงร่วมกันว่าจะสืบพยานปากสำคัญก่อน และเมื่อคู่ความนำสืบพยานสำคัญเป็นที่พอใจแล้ว พยานอื่นที่ไม่จำเป็นอาจจะพิจารณาตัดออก ดังนั้น คดีจึงนำกระบวนการปกติมาใช้ไม่ได้ ต้องขอความร่วมมือจากทั้งฝ่ายอัยการและทนายความ ส่วนคดีการเมืองอื่นๆ อย่างคดีของ กปปส.ยังต้องรอดูว่ามีฟ้องเข้ามาอย่างไร ส่วนกรณีที่มีผู้พิพากษาเข้าเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมาธิการด้านกฎหมาย สปช.นั้น ส่วนตัวเห็นว่าการปฏิรูปในส่วนของศาลจำเป็นต้องมีคนทำงานที่รู้จริงเข้าไปร่วมเสนอแนวทาง ส่วนรายละเอียดให้เป็นเรื่องของสำนักงานดำเนินการ
ด้านนายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงหลักการพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งที่เป็นพลเรือนและเจ้าหน้าที่ในคดีหมิ่นเบื้องสูง และคดีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่จะคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและไม่ให้กระทบกระบวนการยุติธรรมว่า การพิจารณามีหลักการและเหตุผลอยู่แล้ว ที่ต้องดูประกอบพฤติการณ์ความร้ายแรง การที่จะไม่หลบหนี การจะไม่ไปก่อเหตุใดๆ กับพยานหลักฐาน และการจะไม่ก่อเหตุซ้ำอีก ขณะเดียวกันการใช้ดุลยพินิจว่าจะให้ประกันหรืออไม่ให้ประกันตัว ก็ต้องถูกกลั่นกรองจากระบบศาลสูงด้วยอยู่แล้ว คือ หากศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ยื่นอุทธรณ์ได้ หรือหากศาลอุทธรณ์จะสั่งไม่อนุญาตก็ยังสามารถยื่นฎีกาอีกได้ ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนทุกคน โดยหลักใช้ดุลยพินิจว่าจะให้ประกันหรือไม่ทั้งในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ และศาล มีบัญญัติไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 อยู่แล้ว คือ พิจารณาความหนัก-เบาของข้อหา, พยานหลักฐานที่ปรากฏมีเพียงใด, พฤติการณ์แห่งคดี, ความน่าเชื่อถือของหลักประกัน, จะหลบหนีหรือไม่ และจะเกิดความเสียหายหรืออันตรายใดจากการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ ส่วนเหตุอื่นๆ เช่น กรณีที่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการคัดค้านการให้ประกันตัวก็เป็นส่วนประกอบในการพิจารณา โดยหลักหากเป็นคดีอาญาทั่วไป ไม่มีอะไรพิเศษ ก็จะได้ประกันตัวในเวลาไม่นานนัก แต่คดีบางประเภทอาจไม่ได้รับการปล่อยตัว เช่น คดีค้ายาเสพติดรายใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 มีหลักเกณฑ์อย่างไร นายรุ่งศักดิ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวว่า คดีหมิ่นเบื้องสูงเป็นเรื่องของสถาบันซึ่งเป็นที่เคารพเชิดชูของประชาชน การกระทำที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง ก็ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรงด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ต้องหาไม่ได้ประกันก็ยังสามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้เช่นกัน