xs
xsm
sm
md
lg

อดีตอธิการบดี สจล.พบ ตร. ยันไม่ได้ร่วมลักเงินพันล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “ถวิล พึ่งมา” อดีตอธิการบดี สจล.พร้อมอดีตผู้ช่วยเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีโกงสนั่นพันล้านของสถาบัน ยันไม่ได้ร่วมขบวนการ เผยรู้จัก ผอ.คลัง และผู้จัดการแบงก์ สองผู้ต้องหาเป็นอย่างดีในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา และคนคุ้นเคย ส่วนที่เหลือไม่รู้จักใคร



วันนี้ (5 ม.ค.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 10.00 น. ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมด้วยนายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฯ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.เพื่อให้ถ้อยคำในคดีลักเงินกองกลางสถาบันเทคโนโลยีดังกล่าว

โดย ศ.ดร.ถวิลกล่าวก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.ว่า ได้เข้ามาให้ข้อมูลทั่วไป และเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสถาบันฯ โดยเฉพาะเรื่องเงินที่มีการนำเข้าบัญชีซึ่งมีการนำเข้าทุกวัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เงินที่ใช้ประจำวัน เงินเก็บ และส่วนที่เป็นเงินเดือนก็ต้องมีการใส่รหัสในส่วนที่เป็นเงินคงคลัง แล้วแต่รอบการทำบัญชี หรือดีล กับทางธนาคาร ก็มีทั้ง 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่ละธนาคาร ว่าที่ไหนจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่า

ศ.ดร.ถวิลกล่าวต่อว่า สำหรับหน้าที่เซ็นชื่อลงนาม กับหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการนำเงินเข้าในบัญชีนั้นเป็นคนละหน้าที่กัน โดยหน้าที่เซ็นนั้นเป็นหน้าที่ของอธิการบดีโดยตรงกับฝ่ายคลัง แต่ฝ่ายคลังจะมีหน้าที่เก็บบัญชีธนาคาร และเสนอเซ็นอนุมัติ เมื่อครั้งตนเป็นอธิการบดีก็มีหน้าที่ต้องตรวจก่อนการเซ็นอนุมัติ เมื่อมีการทำเรื่องมาก็อยู่เราจะให้หรือไม่ให้ ถ้าให้ก็เซ็นอนุมัติไป เรื่องนี้ก็เป็นปกติมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะการตรวจซึ่งจะเป็นการดำเนินการของฝ่ายตรวจสอบภายใน และฝ่ายตรวจสอบภายนอก ซึ่งมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาร่วมตรวจสอบ

“การตรวจสอบดังกล่าวจะมีรายงานทุกปี แต่ในช่วงที่ผมเป็นอธิการบดีอยู่นั้นได้ตรวจสอบพบว่าเงินในบัญชีธนาคารไม่ได้สูญหายไปแต่อย่างใด ตามเอกสารที่ได้ดูมีการเซ็นเบิก และนำเข้าอย่างถูกต้อง ก็ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร โดยเอกสารที่ปรากฏอยู่ในตอนนั้นก็พบว่ายังปกติดี แต่หากว่ามีเงินหายไปเนื่องจากการปลอมแปลงเอกสาร หรือว่ามีการทำรายการทางบัญชีธนาคารปลอม อันนี้ผมก็ไม่ทราบได้” ศ.ดร.ถวิลกล่าว

ศ.ดร.ถวิลกล่าวอีกว่า สำหรับ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผอ.ส่วนการคลังของสถาบันฯ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนั้น ตนรู้จักดีเพราะต้องทำงานร่วมกันในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะที่นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคาร ตนก็เคยเห็นตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามานั่งบริหารสถาบันฯ เวลาที่ตนเดินทางไปธนาคารก็เจอเขาประจำ ถือว่าสนิทคุ้นหน้าคุ้นตากันดีแต่ก็ไม่ได้สนิทในทางส่วนตัว ส่วนบุคคลที่ตกเป็นข่าวที่เหลือนั้นตนยืนยันว่าไม่รู้จักใคร

ศ.ดร.ถวิลกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของการเซ็นชื่อในเอกสารเพื่อนำเงินฝากหรือถอนจากบัญชีธนาคาร ในสมัยที่ตนเป็นอธิการบดีฯ ก็จะมอบหมายให้อาจารย์สรรพสิทธิ์ ก็คือผู้ช่วยอธิการบดีที่ดูแลด้านการคลัง และ ผอ.กองคลัง ก็มี 3 คน ที่จะต้องเซ็นชื่อ 2 ใน 3 คนนี้ หมายความว่าฝ่ายบริหาร 1 คน ฝ่ายคลัง 1 คนจึงจะดำเนินการได้ แต่ระยะหลังมานี่ ทราบว่ามี 4 คน ก็แล้วแต่สมัยของอธิการบดีที่เข้ามาบริหาร และสาเหตุที่ต้องมีการเซ็นชื่อ 2 ใน 3 ก็เพราะบางครั้งผู้บริหารเดินทางไปต่างประเทศก็จะให้ผู้แทนเซ็น

“ผมขอยืนยันได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการลักเงินกองกลางของสถาบันฯ ไป สามารถตรวจสอบได้ทุกอย่าง ที่ผ่านมาผมก็แสดงทรัพย์สินมาตลอดทุกอย่างยินดีให้ตรวจสอบได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผมดำรงตำแหน่งอธิการบดีอยู่เพียง 1 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2556 คือโปรดเกล้าฯ ประมาณเดือนกรกฎาคม แต่เข้าดำรงตำแหน่งจริงๆ ก็เข้าเดือนสิงหาคมแล้ว” อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าว

ศ.ดร.ถวิลกล่าวด้วยว่า เงินคงคลังมีอยู่ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท แต่ก็ไม่ได้มียอดเคลื่อนไหวทุกปี บางปีก็จะนิ่ง ส่วนกรณีที่สถาบันฯ ออกนอกระบบแล้วมีรายได้เข้าสถาบันฯ มากขึ้นหรือไม่นั้น ตรงนี้ก็เหมือนเงินต่อเงิน เพราะเวลามีเงินเข้ามาและนำไปฝากได้เยอะ ก็มีดอกเบี้ยเยอะ แล้วก็จำนวนของการขยายสถาบันฯ นักศึกษาก็เยอะขึ้น เงินก็จะเหลือคงคลังโดยเฉลี่ยปีละ 5% ที่จะกันไว้ ก็จะได้เพิ่มสักประมาณปีละ 5% ต่อปี

สำหรับนายสรรพสิทธิ์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี เป็นคนที่นายถวิลไว้วางใจมากจึงแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยอธิการบดีในส่วนบริหารการเงินของสถาบัน และในแวดวงอาจารย์รู้กันว่านายสรรพสิทธิ์ชอบคนหาสมาคมกับผู้ชายในสังคมที่มีชื่อเสียงและดาราระดับพระเอกหน้าตาดีหลายคน



กำลังโหลดความคิดเห็น