ตำรวจกองปราบปรามฝากขัง รับส่วยบ่อนพนันออนไลน์ อาบูบาก้า ระบุ เดอะกิ๊ก รับ 150 ล้าน พร้อมค้านประกัน เหตุคดีมีอัตราโทษสูง เกรงยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน
วันนี้ (29 ธ.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธินได้นำตัว พ.ต.ท.วัฒนา ผลงานดี อายุ 42 ปี สว.กก.2 บก.ป. พ.ต.อ.อภิสิทธิ์ เมฆประยูร อายุ 32 ปี สว.กก.ปพ.บก.ป ,ร.ต.อ.ศักรินทร์ เกษรเทียน อายุ 30 ปี รอง สว.กก.4บก.ปคม. และ ร.ต.อ.นิธิพัฒน์ กังรวมบุตร อายุ 28 ปี รอง สว.กก.ปพ.บก.ป ผู้ต้องหาคดีรับส่วยการพนันฟุตบอลออนไลน์จากแก๊งอาบูบาก้าตามหมายจับศาลอาญาเลขที่ 2347/57,2350/57,2348/57,2344/57 ลงวันที่ 24ธ.ค.2557 มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก
โดยระบุพฤติการณ์ ในคำร้อง สรุปว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ พล.ต.ท พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานออกสืบสวนจับกุมขบวนการลักลอบเล่นการพนันทายผลฟุตบอลออนไลน์ โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์อดีต รอง ผบช.ก. เป็นผู้ควบคุมกำกับการดูแล โดยกำหนดให้ พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี อดีตรองผกก.6 บก.ป. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวน โดยให้ พ.ต.อ.วรพจน์ พืชผล ผกก.1บก.ปอศ. เป็นผู้ดูแลเรื่องกฎหมาย รวมทั้งสอบสวนจนเสร็จสิ้นกระบวนความ ทั้งอายัดและถอนอายัดบัญชี จากนั้นมีการตรวจค้น ยึดเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์แล้วนำไปตรวจข้อมูลจนพบรายชื่อบัญชีธนาคารของผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน (เจ้ามือรับแทง) ผู้เล่น
จากนั้นมีการอายัดบัญชี เรียกเจ้าของบัญชีมาสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา และ ทำการถอนอายัดบัญชี แต่กรณีนี้พบว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ปกติส่อไปในทางเรียกรับผลประโยชน์กล่าวคือ เมื่อมีการถอนอายัดบัญชีโดยไม่ผ่านกระบวนการสอบสวนโดย พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี เรียกเจ้าของบัญชีมาพบแล้วเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการถอนอายัดบัญชี เมื่อมีการตกลงกันเรียบร้อย พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี รายงานให้ พล.ต.ต.โกวิทย์ฯ ทราบ จากนั้น พล.ต.ต.โกวิทย์ฯ ได้ให้นายวิฑูรย์ ตระการพฤกษ์ เลขาฯส่วนตัวนำคำสั่งถอนอายัดบัญชีที่มีการเรียกรับผลประโยชน์แจ้งไปยัง พ.ต.อ.วรพจน์ฯ จากนั้น พ.ต.อ.วรพจน์ฯ จะร่างหนังสือแจ้งรายชื่อบัญชีที่สั่งถอนอายัดไปยัง ร.ต.อ.นิธิพัฒน์ กังรวมบุตร (ผู้ต้องหาที่ 4 ) หรือพนักงานสอบสวนคนอื่นเพื่อนำคำสั่งแจ้งถอนอายัดบัญชีไปที่ธนาคาร โดย พ.ต.อ.วรพจน์ฯ เป็นที่ปรึกษาทำหน้าที่ประสานงานระหว่างฝ่ายสืบสวนสอบสวนในการอายัดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้กระทำผิดและถอนอายัดเมื่อได้รับผลประโยชน์ตามที่ได้เรียกร้องจากผู้กระทำผิดตามต้องการ
ฝ่ายสืบสวนมี พ.ต.ท.วัฒนา ผลงานดี (ผู้ต้องหาที่ 1) ,พ.ต.ท.พิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ พ.ต.ต.อภิสิทธิ์ เมฆประยูร (ผู้ต้องหาที่2 ),พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี,ร.ต.อ.ศักรินทร์ เกษรเทียน (ผู้ต้องหาที่ 3 ) และ ร.ต.อ.นิธิพัฒน์ กังรวมบุตร (ผู้ต้องหาที่ 4 ) โดย ร.ต.อ.นิธิพัฒน์ จะได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานจากการสืบสวนและตรวจค้นและตั้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิดและเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ฝ่ายสอบสวนดำเนินการต่อไปหรือให้เสนอปลดอายัดบัญชีโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดและเป็นผู้พิจารณาแจ้งพฤติกรรมการกระทำผิดของผู้ที่ถูกอายัดบัญชีว่าจะมีความผิดในฐานใดในการพิจารณาและใช้ดุลพินิจของ พ.ต.ท.ทรงรักษ์ฯ น่าจะปรึกษากับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ฯ กับ พล.ต.ต.โกวิทย์ฯ
คำร้องระบุอีกว่า พฤติการณ์และการกระทำของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ฯ กับพวก น่าเชื่อว่าได้รับเงินไปมากกว่า 150 ล้านบาท หลังจากได้ข้อมูลจากการสืบสวนดังกล่าว ร.ต.อ.กรกช ยงยืน รอง สว.กก.2บก.ป. พนักงานสอบสวนตามคำสั่ง ตร.ที่ 631/2557 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ กับพวก ตามกฎหมายตาม ศาลอาญาที่1807/2557 ลงวันที่ 16 ธ.ค.57 และในวันที่ 20 ธ.ค.57 พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอออกหมายจับต่อศาลอาญา
ซึ่งอนุมัติหมายจับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ กับพวก รวม 14 คน และต่อมา ผู้ต้องหาทั้งสี่ ได้เข้ามอบตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน จึงจับกุมตามหมายจับ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี โดยกล่าวหาว่า เป็นพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการกระทำนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ เป็นพนักงานร่วมกัน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไข้เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502,มาตรา 157 แก้ไขเพิ่มเติม โดยมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 ประกอบมาตรา 83.
พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนมาตลอด แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสอบสวนปากคำพยานอีก 20 ปาก รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา จากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และรอผลการตรวจสอบการดำเนินการทางบัญชีออมทรัพย์ของผู้ต้องหาทุกคน ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสี่ไว้ มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.นี้ - 9 ม.ค.2558 ด้วย
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนระบุด้วยว่า หากพวกผู้ต้องหา ขอประกันตัวพนักงานสอบสวนขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและอยู่ในความสนใจของประชาชนและผู้ต้องหาอาจจะไม่ยุ่งเหยิงกับพยาน ได้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเอง และให้การปฏิเสธความผิดในชั้นสอบสวนทั้งหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ในการขอปล่อยชั่วคราว ก็ล้วนเป็นของญาติพี่น้องผู้ต้องหา เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวจะไม่หลบหนีจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสี่ โดยตีราคาประกันคนละ 6 แสนบาท
วันเดียวกันนี้ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.สมเกียรติ ตันติกนกพร พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.2 ป. ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 631/ 2557 ได้ยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 4 พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก. กับพวกอาทิ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีต รอง ผบช.ก . พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน อดีต ผบก.น. พ.ต.อ. วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ อดีต ผกก.4 บก.ปคบ. ด.ต. สุรศักดิ์ จันทร์เงา อดีต ผบ.หมู่ บก.ปพ. ด.ต.ฉัตรินทร์ หรือจักรินทร์ เหล่าทอง อดีตผบ.หมู่บก.ปพ. นางสวงค์ ม่วงเที่ยง ผู้ต้องหาที่ร่วมกันกระทำผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่มิชอบโดยทุจริต เรียกรับผลประโยชน์ หมิ่นสถาบันเบื้องสูงฯลฯ มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลครั้งที่ 4 อีกเป็นเวลา 12วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. - 10 ม.ค. นี้เนื่องจากยังจะต้องสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีกประมาณ 30 ปาก รอผลการตรวจสอบธุรกรรมการเงินจากธนาคารที่เกี่ยวข้อง ,รอผลการตรวจสอบ และประเมินราคาทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง .การประเมินราคาทรัพย์ที่ตรวจยึดจากผู้เกี่ยวข้องเฉพาะด้าน และรอผลการสอบสวนขยายผลถึงที่ซุกซ่อนของทรัพย์สิน และอื่น
คำร้องท้ายพนักสอบสวน ยังคงคัดค้านการประกัน พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กับพวก เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และการปล่อยชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายจากการสอบสวนได้
ทั้งนี้ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้ โดยการฝากขังใช้วิธีสื่อสารทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง บางเขน
ต่อมาญาติของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน คนละ 6 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเอง และให้การปฏิเสธความผิดในชั้นสอบสวน ทั้งหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ในการขอปล่อยชั่วคราว ก็ล้วนเป็นของญาติ พี่น้องผู้ต้องหา เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวจะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสี่ โดยตีราคาประกันคนละ 6แสนบาท