xs
xsm
sm
md
lg

สตช.แจง ตร.ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่คาดโทษหัวหน้าสถานี แค่ดูทุกข์สุขให้มากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โฆษก ตร.ย้ำคำสั่ง ผบ.ตร.ให้ผู้บังคับบัญชาสอดส่องลูกน้องอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เป็นการป้องกันไม่ใช่การคาดโทษ ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด เพียงแต่ให้ดูแลใส่ใจมากขึ้น

วันนี้ (20 พ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาโดยเฉพาะระดับสถานีตำรวจ สอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหาตำรวจคิดสั้นฆ่าตัวตายนั้น ว่า กรณีนี้ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำสั่งดังกล่าวทำให้ระดับสถานีตำรวจมีภาระหนักไปหรือไม่ หรืออาจมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้บังคับบัญชาไม่จำเป็นไม่ต้องมารับผิดชอบตรงนี้ ตนอยากทำความเข้าใจว่า กรณีนี้ ผบ.ตร.มีนโยบายที่ให้ผู้บังคับบัญชาระดับกลางดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาระดับปฏิบัติอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งคำสั่งลักษณะนี้มีอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ คำสั่ง ตร.ที่ 1212 ที่ให้ผู้บังคับบัญชาดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาเรื่องความประพฤติ การร่ำรวยผิดปกติ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ตอนนี้ก็เพิ่มอีกเรื่องคือความเครียด เพราะบางครั้งผู้ใต้บังคับบัญชามีปัญหารุมเร้าทั้งเรื่องครอบครัว การเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เครียดอยู่ก่อนแล้ว หากผู้บังคับบัญชาไม่ทราบปัญหาตรงนี้เลย แต่กลับไปมอบหมายงานที่มากเกินไปจะยิ่งไปเพิ่มความเครียดให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ตรงนี้จึงอยากผู้บังคับบัญชาสอดส่องดูแลให้แน่ใจว่าเขาไม่มีปัญหาอยู่ก่อนและมอบหมายหมายงานที่เหมาะสม หากพบปัญหาก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ก่อน ทำให้ความเครียดบรรเทาเบาบางลงไป เขาจะได้ไม่คิดสั้น ไม่ได้จะกวดขันเอาผิด เอาเป็นเอาตายกับผู้บังคับบัญชา แต่ขอให้กวดขันดูแลให้ดีเท่านั้น

ด้าน พ.ต.ท.หญิง ฉันฉาย รัตนพานิช กล่าวย้ำว่า กรณีนี้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหมู่ข้าราชการตำรวจ ว่าหากมีผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงานใดฆ่าตัวตาย ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ ซึ่งจริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของ ผบ.ตร.ที่ออกนโยบายนี้มาไม่ได้มุ่งเน้นจะเอาผิดผู้บังคับบัญชาที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาฆ่าตัวตาย แต่มุ่งเน้นให้ผู้บังคับบัญชาเพิ่มความเอาใจใส่กับผู้ใต้บังคับบัญชาในสังกัด โดย ผบ.ตร.มองว่าหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับตำรวจระดับปฏิบัติมากที่สุด ควรหมั่นดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีปัญหาเรื่องใดบ้างทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพ อยากให้มีการพูดคุย มีการเยียวยาเบื้องต้น หากมีปัญหาก็อยากให้ดูแลกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น