ยธ.เตรียมเสนอของบ 160 ล้านบาทเก็บดีเอ็นเอนักโทษคดียาเสพติดในเรือนจำ เหตุนักโทษพ้นโทษออกไปประมาณ 30,000 คนต่อปี ซึ่งจะช่วยพิสูจน์ผู้กระทำผิด หากนักโทษเหล่านี้ออกไปกระทำผิดซ้ำอีก
วันนี้(12พ.ย.) พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ามาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำว่า สัปดาห์หน้า ตนจะนำเรื่องเสนอต่อพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขออนุมัติงบให้สำนักนิติวิทยาศาสตร์ใช้ในการตรวจดีเอ็นเอนักโทษคดียาเสพติดในเรือนจำประมาณ 160 ล้านบาท
สืบเนื่องจากในแต่ละปีมีนักโทษพ้นโทษออกไปประมาณ 30,000 คนต่อปี ซึ่งในการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอนักโทษแต่ละคนต้องมีค่าใช้จ่ายรายละ 5,000 บาท และ ในการจัดเก็บดีเอ็นเอของผู้ต้องขังนั้นถือเป็นการเก็บหลักฐานบุคคลที่เป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ เดิมทีเป็นเพียงการเก็บตัวอย่างลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวเพราะสำเนาลายพิมพ์นิ้วมือเลือนลาง เป็นอุปสรรคเมื่อต้องนำไปตรวจสอบประวัติอาชญากรหรือใช้ประโยชน์ในการสอบสวนขยายผลคดีอื่นๆด้วย
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวอีกว่า การทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอผู้ต้องขังมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งในส่วนของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะหากผู้ต้องขังเคยทำผิดในคดีอื่นโดยทิ้งหลักฐานดีเอ็นเอไว้ เมื่อตรวจสอบย้อนหลังจะทำให้ตำรวจสามารถจับตัวคนร้าย และสามารถปิดคดีค้างเก่าได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีอะไรมารับรองว่าผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปปีละหลายหมื่นคนจะไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก และปัจจุบันผู้ต้องขังมีจำนวนมาก มักเกิดปัญหาลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกายกัน การเก็บดีเอ็นเอจะช่วยพิสูจน์ผู้กระทำผิดด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการแก้ไขระเบียบราชทัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อรองรับการทำงาน ซึ่งในส่วนของเรือนจำนั้น การเก็บดีเอ็นเอจะทำให้สามารถตรวจสอบผู้ต้องขังที่เข้าและออกจากเรือนจำว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ได้ด้วย ล่าสุดสำนักนิติวิทยาศาสตร์ได้ทำการอบรมเกี่ยวกับการเก็บพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ให้แก่เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางและเรือนจำความมั่นคงสูงทั้ง 64 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการจัดเก็บวัตถุพยานที่ได้จากการตรวจค้นสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำ เช่น โทรศัพท์มือถือ ยาเสพติด ซึ่งจะนำร่องเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำความมั่นคงสูงก่อน