เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการซาอุดีอาระเบียเตรียมผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ ที่จะช่วยเปิดทางให้บรรดาผู้พิพากษามีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการไม่ต้องส่งผู้กระทำความผิดเล็กน้อยเข้าไปรับโทษในเรือนจำ หวังลดจำนวนผู้ต้องขังในประเทศลง 50 เปอร์เซ็นต์
รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงริยาดห์ เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า รัฐบาลภายใต้การนำของกษัตริย์อับดุลเลาะห์เตรียมผลักดันร่างกฎหมายฉบับใหม่ของประเทศ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บรรดาผู้พิพากษา ไม่ต้องตัดสินส่งตัวผู้ที่กระทำความผิดในคดีที่ไม่ร้ายแรงเข้าไปรับโทษจำคุกในเรือนจำ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำของราชอาณาจักรกลางทะเลทรายแห่งนี้
ด้านแหล่งข่าวในกระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า เป้าหมายหลักในการออกกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าว คือเพื่อลดจำนวนผู้ต้องโทษในเรือนจำให้น้อยลง 50 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนนักโทษทั้งหมดที่มีอยู่มากกว่า 47,000 รายในเวลานี้
เบื้องต้นคาดว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะมีเนื้อหาที่ระบุว่า ผู้ที่กระทำความผิดในคดีที่ไม่ร้ายแรง อย่างเช่น การชกต่อย หรือการก่อความรุนแรงในที่สาธารณะ อาจถูกเปลี่ยนให้อยู่ภายใต้ระบบการคุมประพฤตินอกเรือนจำ แทนการถูกส่งเข้าไปรับโทษในเรือนเช่นที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวน่าจะผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2015
อย่างไรก็ดี บรรดาผู้ต้องโทษภายในเรือนจำ “อัล-ฮาอีร์” เรือนจำความมั่นคงสูงที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงริยาดห์ และถือเป็นเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ ในการลดหย่อนโทษ หากร่างกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ภายในเรือนจำแห่งนี้ คือ สมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงที่กระทำความผิดในคดีความมั่นคง และมีนักโทษที่เป็นอดีตสมาชิกของเครือข่ายก่อการร้าย “อัลกออิดะห์” รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก