ป.ป.ท. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สุ่มตรวจที่ทำนาในพื้นที่กรุงเก่า เพื่อหามาตรการป้องกันการทุจริตโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไร่ละ 1 พัน
วันนี้ (6 พ.ย.) ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พร้อมด้วย นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ทำการสุ่มตรวจสอบพื้นที่ทำนาของเกษตรกร เพื่อเป็นแนวทางในการวางมาตรการป้องกันกันทุจริตต่างๆ หลังรัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไร่ละ 1,000 บาท
นายประยงค์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สตง. ป.ป.ท. ป.ป.ช. ดีเอสไอ ปปง. ป.ป.ป. ตร. และ ก.ตร. ในนามศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเช้าได้ไปรับฟังขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการนี้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางปะอิน ทราบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีนโยบายในการแจ้งขึ้นทะเบียน โดยเกษตรกรทุกคนต้องลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันข้อมูล หากมีการแจ้งเท็จก็จะสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ได้มีการตกลงร่วมกันระหว่างศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติกับผู้ว่าฯ จ.นครศรีอยุธยา ในการพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อเป็นต้นแบบพัฒนาในพื้นที่อื่นต่อไป โดยจะเริ่มบูรณาการด้านฐานข้อมูลในสัปดาห์หน้า สำหรับฐานข้อมูลเดิมนั้นมีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง และยังมีช่องว่างหรือจุดอ่อนอยู่ จึงต้องหาวิธีที่รัดกุม และทึ่มีการสุ่มตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น ก็เพื่อตรวจสอบว่าตามขึ้นตอนที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดนั้น ในทางปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากเกษตรอำเภอและจากศูนย์ฯทดลองวัดพื้นที่โดยใช้ฐานวัดคนละระบบ เบื้องต้นพบข้อมูลใกล้เคียงกัน ซึ่งหลังจากนี้เราจะนำข้อมูลบันทึกในแผนที่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นฐานข้อมูลหลักในการพัฒนาระบบต่อไป
เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาในการดำเนินการ และปัญหาการทุจริต แต่ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอว่าข้อมูลเดิมที่มีอยู่มีปัญหาในบางพื้นที่ที่บันทึกข้อมูลไปแล้ว ปัจจุบันพบว่าไม่ได้ทำนา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเครื่องจีพีเอสไม่เพียงพอ ซึ่งในอำเภอบางปะอินมีเพียง 3 เครื่องเท่านั้น และเจ้าหน้าที่มีน้อย จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในการสุ่มตรวจ เราได้แบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งในช่วงแรกคือก่อนวันที่ 15 พ.ย. นี้ และช่วงที่สอง คือ หลังจาก 15 พ.ย. 57 เป็นการตรวจสอบเชิงลึก โดยในการตรวสอบจะเเบ่งกลุ่มเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับเงินและได้รับแจ้งข้อร้องเรียน ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องแยกออกอีกว่าเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ ทั้งนี้ กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนเมื่อช่วง 1 ต.ค. จะเป็นเกษตรกรรายใหม่
ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ยังพบมีปัญหาบ้าง ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมทำงานในครั้งนี้ และวันนี้เรายังไม่พบการทุจริตใดๆ เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมา เคยมีการทุจริตโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เราจึงกลัวว่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งทางรัฐบาลก็อยากให้โครงการดีๆ เกิดประโยชน์แก่ชาวนาจริงๆ จึงได้กำหนดให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเข้ามาดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่เน้นการป้องกันเป็นหลัก แต่ถ้าหากพบว่ามีการทุจริตก็จะดำเนินการทันที ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่แจ้งเท็จ หรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ด้าน นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวรายงานภาพรวมของจังหวัดเกษตรกรพื้นที่ปลูกข้าว 9.5 แสนไร่ ขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 2557/58 จำนวน 27,000 ครัวเรือน แต่ได่รับการเสนอพิจารณาเข้าโครงการ 23,000 ครัวเรือน ปรากฏว่า ผ่านการพิจารณาให้ได้รับเงินจากโครงการแล้ว 8,800 ครัวเรือน สำหรับวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตเบื้องต้นจะใช้วิธีการสุ่มตรวจพื้นที่แปลงนาข้าว 50 เปอร์เซ็นต์
สำหรับพื้นที่ในอำเภอบางปะอิน มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปี 1,474 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าวรวม 47,500 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ 1 - 14 ไร่ จำนวน 305 ราย พื้นที่ 1,323 ไร่ พื้นที่มากกว่า 15 ไร่ จำนวน 1,359 ราย พื้นที่ 46,000 ไร่