xs
xsm
sm
md
lg

“เอก” สั่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลแต่งตั้งระดับรอง ผบก.-ผกก.หวังลดปัญหาร้องเรียน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)
รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบงานกฎหมายและสอบสวน สั่งตั้งคณะกรรมการกำชับมาตรการผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งระดับรอง ผบก.-ผกก.ให้มีความเป็นธรรม ลดปัญหาการร้องเรียนว่าการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม

วันนี้ (15 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับผิดชอบงานกฎหมายและสอบสวน ได้ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 544/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณามาตรการกำชับผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2557 ที่ประชุมมีข้อสังเกตกรณีที่ อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (อ.ก.ตร.) ร้องทุกข์มีมติเยียวยาแก้ไขให้ข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งสูงขึ้นหรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนแต่งตั้งให้กลับไปดำรงตำแหน่งในสังกัดเดิมโดย ก.ตร.เห็นว่าการมีมติของ อ.ก.ตร.ร้องทุกข์จะมีผลผูกพันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับ ก.ตร.จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการถึงรองผู้บังคับการ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 88/2557 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2557

ดังนั้น เพื่อให้มีมาตรการทางกฎหมายในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ปฏิบัติถูกต้องและเป็นธรรม จึงแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณามาตรการกำชับผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1. พล.ต.ท.วัฒนา สักกวัตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) (งานกฎหมายและคดี 2) เป็นประธานคณะทำงาน 2. พล.ต.ต.ประสิทธิ เฉลิมวุฒิศักดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (รอง ผบช.กมค.) เป็นคณะทำงาน 3. ผู้บังคับการกองคดีปกครองและคดีแพ่ง สำนักงานกฎหมายและคดีหรือผู้แทน เป็นคณะทำงาน 4. ผู้บังคับการกองร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือผู้แทน เป็นคณะทำงาน 5. ผู้บังคับการกองวินัยหรือผู้แทน เป็นคณะทำงาน 6. พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการกลุ่มงานกฎหมายกองกฎหมาย เป็นคณะทำงาน 7. พ.ต.ท.ส่งศักดิ์ สาธารลัย สารวัตรกลุ่มงานพิจารณา 1 กองร้องทุกข์ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และ 8. พ.ต.ท.พรชัย คงแก้ว สารวัตรกลุ่มงานพิจารณา 1 กองร้องทุกข์ เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ ในส่วนของอำนาจหน้าที่ คือ 1. ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการกำชับผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อลดปัญหาการร้องทุกข์ เนื่องจากการแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรมและแนวทางในการแก้ไขปัญหา 2. เชิญหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมพิจารณาหรือชี้แจงต่อคณะทำงาน 3. ขอข้อมูล เอกสาร ความเห็นจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะทำงาน และ 4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น