อัยการสั่งสอบเพิ่มคดี “อุ้มบุญ” ประเด็นภาพถ่ายสถานที่รับทำอุ้มบุญไม่ชัดเจน หลัง “หมอพิสิฐ” ยื่นขอความเป็นธรรม และอาจต้องขอความเห็นแพทยสภามาประกอบสำนวนการสอบสวน
ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ถ.พระราม 4 วันนี้ (9 ต.ค.) เวลา 10.00 น. นายรุ่งโรจน์ ดิจบรรจง ทนายความของ นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล อายุ 40 ปี เจ้าของคลินิกออลไอวีเอฟ ย่านเพลินจิต ซึ่งทำอุ้มบุญให้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ผู้ต้องหาคดีประกอบกิจการและดำเนินสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้เดินทางเข้าพบ นายเจริญเดช ศัลยพงษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ตามที่ได้นัดมาฟังการสั่งคดี ขณะที่ นพ.พิสิฐ ไม่ได้เดินทางมาพบอัยการแต่อย่างใด
โดยเมื่อถึงเวลานายเจริญเดช อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ได้แจ้งให้นายรุ่งโรจน์ ทนายความ นพ.พิสิฐ ทราบว่า คณะทำงานยังไม่สามารถมีความเห็นในการสั่งคดีได้ โดยจะแจ้งให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมก่อน ต่อมา นายเจริญเดช และคณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดี ได้ร่วมกันแถลงถึงการสั่งสอบสวนเพิ่มเติม
นายเจริญเดช อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 กล่าวว่า ในการพิจารณาสำนวน ปรากฏว่าคดีนี้ผู้ต้องหาก็ได้ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาด้วย ซึ่งอัยการพิจารณาพยานหลักฐานการสอบสวน และประเด็นต่างๆ ตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาแล้วเห็นว่ายังมีข้อสงสัยในหลายการ ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา อัยการจึงเชิญผู้รับมอบอำนาจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาคดีนี้มาสอบถามเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยมีความเห็นตรงกันว่ายังมีประเด็นสอบสวนเพิ่มเติม อัยการจึงมีความเห็นสั่งให้พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี สอบสวนเพิ่มเติมที่มีหลายประเด็น อาทิ ภาพถ่ายสถานประกอบการของผู้ต้องหาที่ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุเกิดที่ชั้นใด เนื่องจากอาคารที่ประกอบการมี 2 ชั้น ขณะที่การร้องขอความเป็นธรรมนั้นผู้ต้องหายืนยันว่าได้ดำเนินการเปิดสถานประกอบการอย่างถูกต้อง ดังนั้นอัยการอาจจะต้องถามความเห็นจากแพทยสภาซึ่งถือว่าเกี่ยวข้อง เพราะในสำนวนสอบสวนไม่ปรากฏว่ามีความเห็นแพทยสภาอยู่ด้วย รวมทั้งต้องสอบถามหน่วยงานที่ผู้ต้องหาอ้างว่าได้รับประกาศนียบัตรเกี่ยวกับการแพทย์ทางเลือกนี้อีกด้วย
ดังนั้น อัยการจึงไม่สามารถสั่งคดีได้ในวันนี้ที่ครบกำหนดผัดฟ้องครั้งสุดท้าย โดยหลังจากนี้หากพนักงานสอบสวนเสนอรายงานผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาให้ และอัยการมีความเห็นว่าพยานหลักฐานพอฟ้องก็จะเสนอเรื่องเพื่อขออนุญาตนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ฟ้องคดีตามขั้นตอนของกฎหมายคดีศาลแขวง และเมื่ออัยการสูงสุดอนุญาตให้ฟ้องแล้ว อัยการคดีศาลแขวง 6 จะมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลโดยเร็ว แต่ถ้าปรากฏว่าผู้ต้องหาหลบหนี อัยการจะแจ้งให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกหมายจับต่อไป
สำหรับคดีนี้มีการกล่าวหา รวม 2 ข้อหาตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 คือ 1. ประกอบกิจการและดำเนินสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ที่มีอายุความ 10 ปี และ 2. ไม่ควบคุมและดูแลให้แพทย์ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาล ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ที่มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ดังนั้นถ้าจะดำเนินการฟ้องก็จะต้องไม่ให้ขาดอายุความในข้อหาใดข้อหาหนึ่ง แต่คิดว่าการสอบสวนคงใช้เวลาไม่นานขนาดนั้น เพราะอัยการจะเร่งติดตามความคืบหน้าจากพนักงานสอบสวนเป็นระยะ หากไม่แจ้งมาก็จะทำหนังสือเตือน โดยเบื้องต้นให้พนักงานสอบสวน รายงานการสอบสวนเพิ่มเติมมาภายในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ซึ่งอัยการได้นัดให้ นพ.พิสิฐ ผู้ต้องหามารายงานตัวกับอัยการในวันดังกล่าวด้วย
“การสั่งคดีของอัยการต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน เรื่องนี้ไม่ได้มีข้อยุ่งยาก แต่จะต้องทำให้ได้ข้อเท็จจริงจนสิ้นกระแสความ ถ้าถามว่ามีการแทรกแซงหรือไม่ ใครจะแทรกแซง เราไม่ทำให้อัยการเสียชื่อเสียง การพิจารณาก็ว่ากันไปตามกระบวนการสอบสวน” อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ยืนยัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการฟ้องคดีแล้วจะต้องเรียกพ่อชาวญี่ปุ่นที่ว่าจ้างการอุ้มบุญ มาเป็นพยานด้วยหรือไม่ นายเจริญเดช อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่อาจจะมีการยื่นบัญชีพยานและต้องยื่นแนบในวันที่ฟ้องคดี ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาลว่าจะนำสืบพยานปากนี้หรือไม่