xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งประหารชีวิต “พ.ต.ท.” พร้อมพวก ค้ายาบ้า 1 ล้านเม็ด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอาญาสั่งประหาร “พ.ต.ท.” ตำรวจ จ.น่าน พร้อมพวก 5 ราย สมคบกันค้ายาบ้า 1 ล้านเม็ด แต่คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 8 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ



ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ก.ย. ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด หมายเลขดำ อย.1542/2556 ที่อัยการฝ่ายคดียาเสพติด 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.ต.ต.จิตติพงษ์ โสไชย อายุ 44 ปี อดีตรองสว. สภ.อวน จ.น่าน , ด.ต.อรรถพล คำแสน อายุ 44 ปี อดีตผบ.หมู่ ป. สภ.อวน , พ.ต.ท.ธรรมนูญ นาคบัว อายุ 42 ปี อดีตสว.หน สภ.อวน , ด.ต.สักกพงษ์ เชียงหนุ้น อายุ 41 ปี อดีตผบ.หมู่ ป. สภ.อวน , ด.ต.นลธวัช พรรษา อายุ 39 ปี อดีตผบ.หมู่ ป. สภ.อวน , นายวิชาญ ลาวมี่ อายุ 23 ปี ชาวจ.แม่ฮ่องสอน , น.ส.เบญจพร เที่ยงกินรี อายุ 25 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด และนายอุดมศักดิ์ แซ่เติ๋น อายุ 38 ปี ชาว จ.เชียงราย เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท1(ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ

โดยโจทก์ฟ้องบรรยายความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 ธ.ค.2555 เวลา ประมาณ 18.00 น. ถึงวันที่ 13 ธ.ค.2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-5 ซึ่งเป็นราชการตำรวจกับจำเลยที่ 6 -8 ได้สมคบกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 1,000,000 เม็ด น้ำหนัก 91,917.285 กรัม มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 1830.778 กรัม โดยจำเลยได้ร่วมกันลักลอบลำเลียงขนส่งเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้จำเลยที่ 6 กับจำเลยที่ 7 เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 , 2 , 3 , 4 และ 5 ยังได้พาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุน ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้มีไว้ในครอบครองติดตัวไปที่บริเวณถนนสาธารณะ แต่ไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปยังตำบลและอำเภออื่นๆ นอกพื้นที่ ต่อมาเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืนและ รถยนต์กระบะอีซูซุ ดีแม็ก ตราโล่ ของ สภ.อวน จ.น่าน ตราโล่ หมายเลขทะเบียน ญภ 8978 กทม. ซึ่งเป็นของทางราชการ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ,7, 8 ,15 ,66 ,100 ,102 และพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 4 ,7 ,8 ,10,14 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ 72 ทวิ ปอ.มาตรา 32 ,33 ,83,91 ,371

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมเป็นพยานขึ้นเบิกความสอดคล้องกันตามลำดับว่า ได้รับแจ้งจากสายลับของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผบ.ตร. ว่าจะมีการขนยาเสพติดไปตามเส้นทางถนนสายเอเชีย จึงสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งด่านสกัดจับ กระทั่งเจ้าหน้าที่พบรถยนต์กระบะอีซูซุ ดีแม็ก ตราโล่ ของ สภ.อวน จ.น่าน ซึ่งมีพิรุธต้องสงสัย และมีรถกระบะโตโยต้าวีโก้ สีดำ ขับตามมาตลอดเส้นทางจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนขับเข้าไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุมจำเลยที่ 1-2 พร้อมของกลางยาบ้าจำนวน 1 ล้านเม็ด และขยายผลจนสามารถจับกุมจำเลยที่ 3,4,5 ได้ที่ร้านแม่ลาปลาเผา จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นได้วางแผนให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดจำเลยที่ 6,7 เพื่อมารับยาเสพติดที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่ง โดยให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะไปจอดที่ปั้มดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 6,7 มาถึงก็ได้เดินไปเปิดประตูรถเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุม เห็นว่าพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญเป็นลำดับตั้งแต่เส้นทางการลำเลียงจนการติดต่อรับยา จึงเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามความเป็นจริง อีกทั้งการนำสืบของพยานโจทก์เจือสมกับจำเลยที่ 1-5 ที่รับสารภาพว่ารับยาเสพติดมาจากที่ จ.เชียงราย โดยนัดลูกค้าให้มารับยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำไปส่งที่กทม.

มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่า จำเลยที่ 1-3 กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการหรือไม่ เห็นว่า ยาเสพติดของกลางดังกล่าวมีปริมาณจำนวนมากและนำออกนอกพื้นที่รับผิดชอบของจำเลย แต่จำเลยมิได้รายงานเรื่องดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และไม่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจเมื่อสามารถจับกุมยาเสพติดได้ รวมทั้งพวกจำเลยไม่ได้ขออนุญาตในการเคลื่อนย้ายยาเสพติด การกระทำของจำเลยนอกจากเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบแล้วยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้ออ้างจำเลยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเปลี่ยนเส้นทางกะทันหันเพื่อความปลอดภัยของจำเลยที่ 8 ที่ถูกจับเป็นตัวประกันในประเทศพม่านั้น เห็นว่า จำเลยที่ 8 ก็สามารถกลับมาได้อย่างปลอดภัย ข้อกล่าวอ้างจึงเลื่อนลอย

ปัญหามีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และ 3 ไว้ใจให้จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถกระบะตราโล่ โดยขับรถไปรอรับยาเสพติดที่ จ.เชียงราย เมื่อรับของเสร็จแล้วก็นัดพบกับจำเลยที่ 4,5 ที่จำเลยอ้างว่ามีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยไม่ทราบว่าสิ่งของที่ขนมาเป็นยาเสพติด เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นตำรวจปฏิบัติหน้าที่จับกุมยาเสพติดหลายครั้ง ย่อมต้องรู้และเข้าใจได้ว่าสิ่งของที่นำมาใส่ในรถในเวลาเปลี่ยวและมีการวิ่งข้ามหลายจังหวัดเป็นสิ่งของผิดกฎหมายหรือไม่ และแม้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่เห็นชอบกับการกระทำของผู้บังคับบัญชา ก็สามารถโต้แย้งและสอบถามเหตุผลได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่กระทำ จึงอาจทราบอยู่แล้วว่าสิ่งของที่ขนมาเป็นยาเสพติด ประกอบกับที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าไม่เคยปฏิบัติหน้าที่นอกพื้นที่ จึงนับเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ข้ออ้างจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ส่วนจำเลยที่ 4-5 อ้างว่ามีหน้าที่เป็นพลขับ โดยในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้เรียกให้จำเลยที่ 4-5 มาขับรถโดยไม่ได้แจ้งรายละเอียด ซึ่งการรับรู้ข้อมูลตลอดจนการใกล้ชิดกับยาเสพติดแทบไม่ปรากฎให้เห็นว่าจำเลยที่ 4-5 มีความเชื่อมโยงกับการกระทำผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าจำเลยที่ 4-5 ร่วมกระทำผิดหรือไม่ อีกทั้งจำเลย 4-5 ก็ได้ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด

สำหรับจำเลยที่ 6-7 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางแผนขยายผลและติดต่อกับจำเลยที่ 6-7 เป็นระยะ จึงรับฟังได้ไม่ผิดตัวว่าจำเลยที่ 6-7 ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 จริง และที่จำเลยอ้างว่าเดินทางมาดูรถเพื่อตกลงซื้อขายกันนั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6-7 ได้ทำธุรกิจดังกล่าวตลอดจนไม่มีสถานที่ตั้งประกอบการ และหากเป็นการดูรถเพื่อซื้อขายจริงแม้จะไม่พบใครก็ควรจะต้องรอเพื่อสอบถามราคา แต่เมื่อจำเลยมาถึงสถานที่นัดพบก็เข้ามาเปิดประตูรถและขับออกไปโดยทันที จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 6 ได้เปิดประตูรถเพื่อขับรถออกจากสถานที่ดังกล่าวมากกว่า นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบบัญชีเงินฝากของจำเลยพบว่ามีเงินเข้าออกมากผิดปกติ ข้ออ้างจำเลยที่ว่าไม่รู้เห็นเหตุการณ์ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 6-7 ถูกจับกุมหลังจากเตรียมขับรถออกไป ก็ถือว่ามีความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ส่วนจำเลยที่ 8 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่าได้เดินทางไปเที่ยวที่ฝั่งประเทศพม่าเท่านั้น และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด พยานโจทก์ยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยว่าจำเลยที่ 8 กระทำผิดหรือไม่ ประกอบกับจำเลยที่ 8 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ,2, 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรค 3 อนุ 2 และมาตรา 66 วรรค 3 พ.รบ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรค 2 และพ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ , 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 371 เป็นความผิดหลายกรรมและผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต พิพากษาประหารชีวิต และความผิดฐานพกพาอาวุธปืนฯ จำคุกคนละ 6 เดือน แต่การนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงลงโทษจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันมียาเสพติดฯ ให้จำคุกตลอดชีวิต และฐานพกพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 4 เดือน รวมโทษจำเลยที่ 1-3 ให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 4-5 มีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนฯ จำคุกคนละ 6 เดือน แต่การนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 4 เดือน ขณะที่จำเลยที่ 6-7 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้ระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดสำเร็จ พิพากษาประหารชีวิต และยกฟ้องจำเลยที่ 8 แต่ให้ขังจำเลยที่ 4,5,8 ไว้ระหว่างอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ญาติของจำเลยได้เดินทางมาให้กำลังใจกันเต็มห้องพิจารณา และภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ จำเลยที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตบางรายร้องไห้เสียใจ พร้อมทั้งสวมกอดกับญาติเพื่อปลอบใจ ขณะที่ทนายความระบุจะอุทธรณ์สู้คดีต่อไป




























กำลังโหลดความคิดเห็น