โฆษกอัยการ เผย คดี ป.ป.ช. ชี้มูล “อดีตนายกฯปู” ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่ระงับโครงการจำนำข้าวทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 ก.ย. นี้ โดยสามารถยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีตัวจำเลยมาฟ้อง
วันนี้ (2 ก.ย.) นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีต่างประเทศ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนพร้อมมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ซึ่งหากอัยการสูงสุดพิจารณาเสร็จสิ้นเมื่อใด จะนัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ด้าน นางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบว่าอัยการสูงสุดจะมีการแถลงข่าวในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรค ระบุว่า ให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับเรื่อง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 ก.ย. นี้ เว้นแต่ภายในระยะเวลาดังกล่าวอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าเรื่องที่ส่งมานั้น ยังมีข้อไม่สมบูรณ์และได้แจ้งข้อหาไม่สมบูรณ์นั้นไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเป็นกรอบระยะเวลาแบบเร่งรัดเท่านั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ถ้าหากเกินกรอบระยะเวลาที่กำหนด อัยการสูงสุดก็ยังสามารถพิจารณาสั่งฟ้องได้จนกว่าคดีจะหมดอายุความดังกล่าว โดยยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีตัวจำเลยมาฟ้องแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องระบุแหล่งที่อยู่ของจำเลยให้ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนในการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ระบุว่า เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาฯ เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาฯ ซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะผู้พิพากษา เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่ยื่นฟ้องคดี
ทั้งนี้ หากผู้พิพากษาคนใดประสงค์จะขอถอนตัวจากการได้รับเลือก ให้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ ก่อนการลงคะแนน และให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติว่าจะให้มีการถอนตัวหรือไม่ ซึ่งมติของที่ประชุมใหญ่ถือเป็นที่สิ้นสุด ส่วนการเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละคดีให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ โดยให้ผู้พิพากษาที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลําดับจนครบจํานวน 9 คน จะเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ ทั้งนี้ ถ้าหากมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลําดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกิน 9 คนจะต้องให้ประธานศาลฎีกาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
ส่วนผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาแล้ว ย่อมมีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุดอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคําสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทํางานที่อื่นนอกศาลฎีกาฯ