xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด กต.ออสซีหารือ รทท.ปลัดยุติธรรมไทย ออก “กฎหมายอุ้มบุญ” ชี้ของไทยเป็นการทำเชิงพาณิชย์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ปลัดต่างประเทศและการค้า ออสเตรเลีย หารือ รทท.ปลัดยุติธรรมของไทย เรื่องการออกกฎหมายอุ้มบุญของไทย หลังพบอุ้มบุญในไทยเป็นการพาณิชย์ ฝ่ายไทยยันความเห็นนานาประเทศจะถูกรวบรวมเสนอ สนช.พิจารณา ก่อนออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ระหว่างนี้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำอย่างไรให้เด็กไปอยู่กับครอบครัวอย่างถูกต้อง



เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (29 ส.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม Mr.Peter Vorghese ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้า ประเทศออสเตรเลีย เข้าพบนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อหารือถึงกฎหมายการตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญในประเทศไทย นานกว่า 1 ชั่วโมง

นายชาญเชาวน์กล่าวว่า เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล สภาพปัญหา และรับฟังความเห็นจากทางการประเทศออสเตรเลียที่กังวลว่าจะมีวิธีใดที่จะทำให้เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญได้ไปอยู่กับผู้ปกครองที่แท้จริงและถูกต้อง โดยได้รับสิทธิต่างๆ ตามหลักมาตรฐานสากล ฝ่ายไทยมีแนวคิดที่สอดคล้องกันว่า ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญที่ชัดเจนจะต้องเน้นหลักมนุษยธรรม คำนึงผลประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก แลได้รับการคุ้มครองสิทธิตามหลักมาตรฐานสากลให้เป็นไปแนวทางเดียวกันกับการแก้ปัญหาของทุกประเทศ โดยวันนี้ยังไม่ได้ลงลึกรายละเอียดหรือนำกรณีที่เกิดขึ้นในไทยมาพูดคุย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะปฏิบัติต่อทุกประเทศเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างที่ไทยยังไม่มีกฎหมายอุ้มบุญจะต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น พ่อแม่เด็กและผู้อุ้มบุญต้องแสดงความยินยอมชัดเจนว่าจะให้เด็กอยู่ในครอบครัวอย่างแท้จริง รวมถึงการพิจารณาอนุญาตจากศาล ที่สุดท้ายจะต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไปอยู่กับครอบครัวได้อย่างถูกต้อง ส่วนหน่วยงานใดในไทยที่ติดขัดปัญหาช่วงนี้จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรการบังคับใช้ แต่ทุกข้อมูลปัญหาและความเห็นของนานาประเทศจะถูกรวบรวมรายละเอียดเสนอให้ สนช.นำไปพิจารณาก่อนจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

Mr.Peter Vorghese กล่าวว่า การอุ้มบุญหรือการตั้งครรภ์แทนในประเทศออสเตรเลียก็ไม่อนุญาตให้ทำเป็นการพาณิชย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่สามารถกำหนดได้ และเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาในข้อกฎหมาย ทั้งนี้การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีข้อกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีชาวออสเตรเลียเข้ามาทำอุ้มบุญในประเทศไทยประมาณ 200 ราย

กำลังโหลดความคิดเห็น