สภาทนายฯ ระบุปัญหาอุ้มบุญแม้ กม. ไม่ได้ห้ามแต่ก็ไม่อนุญาต ปัจจัยสำสัญอยู่ที่จรรยาบรรณแพทย์ อีกทั้งจะไปบังคับจิตใจผู้ดูแลเพื่อขอตรวจดีเอ็นเอ เด็กทารกทั้ง 9 ราย ก็ไม่ได้
วันนี้ (7 ส.ค.) นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องอุ้มบุญในขณะนี้ ว่า ถ้าไม่มีใครลงมาจัดการต้องเป็นปัญหาสังคมแน่นอน เนื่องด้วยกฎหมายไทยไม่ได้ห้ามเรื่องการอุ้มบุญแต่ก็ไม่ได้อนุญาต เพียงแต่ให้อยู่ในดุลพินิจและจรรยาบรรณของแพทย์เท่านั้น ถ้าพบว่ามีการทำสัญญาจ้าง หรือมีข้อตกลงเรื่องการตอบแทนกัน ก็ถือว่าเป็นโมฆะ สัญญาผิดไม่สามารถฟ้องร้องได้ ส่วนหญิงที่รับจ้างจะมีความผิดทางอาญาหรือไม่นั้น ยังมองไม่เห็น แต่กรณีที่จะเข้าข่ายการค้ามนุษย์นั้นอาจเกิดจากการรับจ้างอุ้มบุญเมื่อตั้งท้องใกล้คลอดก็เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อคลอดบุตรแล้วยกเด็กให้กับผู้จ้าง แลกกับค่าตอบแทน
กรณีเด็ก 9 ราย ที่คนเลี้ยงปฏิเสธว่าไม่ใช่คนอุ้มบุญนั้น ก็ถือว่าเขาเป็นเจ้าของเด็ก หากเขาไม่ยินยอมให้ตรวจดีเอ็นเอ ก็บังคับเขาไม่ได้ แต่การตรวจดีเอ็นเอทำได้หลายทาง เนื่องจากเด็กเพิ่งคลอด พนักงานสอบสวนสามารถทำหนังสือขอความร่วมมือตรวจสอบประวัติเด็กได้ โดยดูได้จากเวชระเบียน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่า แต่ถ้าจะไปบังคับตรวจไม่น่าจะทำได้เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน