บรมครูช่างฝีมือดีเมืองนนท์สุดปลื้มได้รับความไว้ใจให้สร้างพระโกศงาช้างถวายสมเด็จพระสังฆราช สำหรับเก็บพระอัฐิของประมุขสงฆ์ เผยถือฤกษ์ในวันเข้าพรรษาทำการกลึงพระโกศงาช้างใช้เวลากลึงนานกว่า 10 ชม.
ที่บ้านเลขที่ 73/12 หมู่ 1 ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หรือที่เรียกว่าบ้านพญาปี่ คือ ฉายาของครูดนตรี จ.อ.สุวรรณ ศาสนนันทน์ อายุ 54 ปี เป็นบรมครูช่างฝีมือดี และครูดนตรีชั้นเยี่ยมของเมืองไทย ได้รับความไว้วางใจให้เป็นช่างผู้สร้างพระโกศงาช้างเพื่อถวายสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สำหรับเก็บพระอัฐิของประมุขสงฆ์ ได้ถือฤกษ์ในวันเข้าพรรษาเป็นวันดีทำการกลึงพระโกศงาช้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสร้างพระโกศงาช้างนี้ได้รับงาช้างมาจาก นายสมโรจน์ คูกิจติเกษม ซึ่งเป็นงาของช้างพลายทองใบ อายุ 70 ปี มีขนาดยาว 63 ซม. เส้นผ้าศูนย์กลาง 11 ซม. น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ตัดมาแล้ว 3 ปี เป็นการตัดเพื่อบำรุงงาของช้าง เพื่อช่วยเหลือช้างที่เจ็บป่วยตามปกติ จึงได้นำมาถวายเพื่อสร้างพระโกศในครั้งนี้ โดยมีช่างสุวรรณ เป็นผู้รับหน้าที่เป็นผู้สร้างพระโกศงาช้าง ซึ่งถือเป็นงานที่สำคัญยิ่งในชีวิตจึงได้จัดทำพิธีบวงสรวงก่อนที่จะทำการกลึงงาช้าง
สำหรับการกลึงงาช้างนั้นช่างสุวรรณ ได้มีการวาดแบบพระโกศก่อน โดยวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้เริ่มกลึงงาช้างตามภาพที่วาดไว้ ซึ่งจะต้องทำการกลึงในเวลากลางคืนที่อุณหภูมิลดลง เพราะงาช้างสามารถปริแตกได้ง่ายในเวลาที่อากาศร้อน
สำหรับพระโกศที่จะทำขึ้นนี้ มีลักษณะคล้ายแบบอย่างพระโกศทองใหญ่ทองน้อยเป็นหลัก โดยจะกลึงตามความเหมาะสมของถ้ำชั้นนอกเป็นหลัก ซึ่งพระถ้ำชั้นนอกนั้นเป็นหินอ่อนสีเขียว และหินอ่อนดังกล่าวนั้นนำมาจากประเทศอิตาลี
จากนั้นช่างสุวรรณจะเริ่มขึ้นรูปฝาพระโกศก่อนอันดับแรกเป็นแบบลายบัวหงาย 3 ชั้น แล้วค่อยเจาะด้านในตัวพระโกศเพื่อให้ได้ตามขนาดจากนั้นตามด้วยการทำเกลียวที่ฝาและตัวพระโกศ ซึ่งถือเป็นงานที่ยากมากที่จะทำให้เกลียวนั้นปิดสนิทพอดี หลังจากได้เกลียวที่พอดีแล้ว ช่างสุวรรณจะต้องกลับมากลึงลายบัวที่ฝาให้ออกมางดงามอ่อนช้อยตามแบบที่ขึ้นรูปไว้ในตอนแรก สุดท้ายจึงกลับมากลึงที่ตัวพระโกศโดยมีลายบัวที่ฐานพระโกศเช่นกัน งานกลึงพระโกศในครั้งนี้ช่างสุวรรณต้องใช้ความประณีต ใจเย็น เพื่อให้พระโกศออกมาสวยงามตามที่ตั้งใจทำถวาย ซึ่งใช้เวลาในการกลึงทั้งหมดตั้งแต่เวลา 18.00 - 23.50 น. ประมาณ 6 ชั่วโมง จนได้พระโกศงาช้างขนาดที่สวยงดงาม
ช่างสุวรรณเปิดเผยหลังจากกลึงพระโกศงาช้างเสร็จ ว่า ตั้งแต่เริ่มตัดงาช้างออกเป็นชิ้นๆ จนถึงการกลึงเสร็จ ใช้เวลารวมกันทั้งหมด 10 ชั่วโมง ซึ่งจะทำได้เฉพาะเวลาตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะอากาศไม่ร้อน ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มกลึงงาช้างจนถึงวันนี้ ตนรู้สึกกดดันเหมือนกัน แต่พองานสำเร็จ ตนรู้สึกภูมิใจมากที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้รับความไว้วางใจให้ทำสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งการได้สร้างงานนี้ถือเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต มีความสุขมาก และภูมิใจมาก