xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์ขรม! ตร.เตรียมเสนอ คสช. ของบ 2,000 ล้าน ซื้อรถสายตรวจหรูคันละ 1.3 แสน ทดแทนไทเกอร์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ภาพจากเฟซบุ๊ก ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร - บก.02
ASTVผู้จัดการ - วิจารณ์ขรม สตช. เสนอ คสช. ขอซื้อรถจักรยายนต์สายตรวจขนาด 300 ซีซี ราคาคันละ 130,000 บาท จำนวน 14,495 คัน ทดแทนยี่ห้อไทเกอร์รุ่นอื้อฉาว พร้อมรถธุรการอีก 4,495 คัน รวมมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยเพียบ - ขุดเรื่องทุจริต - ไล่กลับไปปรับปรุงคุณภาพการปฏิบัติงานก่อน

วันนี้ (12 ก.ค.) เฟซบุ๊กของ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) กองบังคับการตํารวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้โพสต์ภาพ และข้อความเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อ รถสายตรวจเพื่อทดแทนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์โดยระบุว่า

“Honda CBR 300 รถสายตรวจ 14,495 คัน รถทดแทน tiger หน่วยไหนมี tiger ก็จะได้รถทดแทน กำลังนัดตัวแทน บช. ทำแผนแจกจ่าย ให้เตรียมข้อมูลเลย มีหลักสูตรฝึกอบรมการขับขี่ให้ด้วย รถใหญ่ แรง กลัวตำรวจเกิดอุบัติเหตุ และพร้อมกันนี้ พธ. (กองพลาธิการ) ได้เตรียมลงนามสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ ทดแทน งานธุรการ 4,495 คัน ได้รถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Yamaha รุ่น Meo 125i แจกจ่ายไปพร้อมกัน ขณะนี้รอลงนามอนุมัติจาก หน.คสช ... ข่าว จาก พธ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครับ” เฟซบุ๊ก บก.02 ระบุ

หลังจากที่ทางศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวขึ้นไปก็มีประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์กับการเสนอของบประมาณดังกล่าวที่มีมูลค่ารวมกันน่าจะมากกว่า 2 พันล้านบาท โดยราคาตลาดของรถจักรยานยนต์สายตรวจ ยี่ห้อฮอนด้ารุ่น ซีบีอาร์ 300 ซึ่ง สตช. เสนอขอซื้อนั้นมีราคาตามท้องตลาดตกคันละ 133,000 บาท ขณะที่จักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่น Meo 125i ซึ่งจะมาใช้ในงานธุรการนั้นราคาท้องตลาดอยู่ที่คันละ 46,000 บาท

ขณะที่ประชาชนบางส่วนก็ย้อนความทรงจำว่าการจัดซื้อยานพาหนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในอดีตนั้นมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต และการซื้อของแพงแต่ไม่ได้คุณภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีการซื้อรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อไทเกอร์ หรือ การจัดซื้อจักรยานยนต์ดับเพลิงในอดีตที่มีมูลค่าคันละนับล้านบาท

“ถ้าซื้อราคาปกตินะครับ คันละ 133,000 x 14,495 = 1,927,835,000 อ่อยังไม่บวกค่าเหล็กไทเทเนียมที่เอามาติดทั้งสองข้าง ไม่รุ้เท่าไหร่ (กุประชด ) mio 125i คันละ 46,000 x 4495 = 206,770,000 ก็ประมาณนี้เเหละ จริง พวกคุณซื้อเยอะ มันควรจะถูกกว่านี้ มาก เเต่ถ้าจะซื้อจริง ผมว่าเอา CB300F กำลังจะเข้านะครับ มันเหมาะกว่าทรง sport นะ” ผู้ใช้นามว่า TozlisMz Utk ให้ความเห็น

ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งก็เข้าไปในแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในโพสต์ดังกล่วของ บก.02 จำนวนมาก เช่น

หนุ่ม บ้านไร่ : ใช้ในทางที่ถูกที่ควรนะภาษีประชาชน ไม่ใช่รถขับไปรับเก็บส่วย ละอายบ้างไรบ้างชาวบ้านเขารู้ทันและเสื่อมกับองค์กรนี้มานาน

Love Chelsea : จะรถให้รถใหญ่หรือรถเล็กมันก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องจับผู้ร้ายหรอก เห็นก่อน 7 โมงทุกเช้าบรรทุกเด็กเอาไปส่งโรงเรียน พอ 5 โมงเย็นก้อเอาเมียซ้อนท้ายมาจ่ายตลาด ส่วนค่าน้ำมันก้อเงินภาษีกูทั้งนั้น ฟวย..

ป๋าดัน กินแต่เด็ก : ไอ้ “ไทเกอร์” คันละแสนสอง ที่เคยได้ยินข่าวมา มาจอดตามโรงพัก บางคันก็ไม่ได้วิ่ง บางคันพังรอซ่อมไม่มีอะไหล่ แล้วไอ้รุ่นนี้กี่แสนครับ..เจ้านาย

Weerapon NoCoup Mio : ซื้อมาให้เมียตำรวจขี่ไปตลาด ปรับปรุงคุณภาพรถเเล้วก็อย่าลืมปรับปรุงการทำงานขององค์กร ด้วยนะครับ ไม่รู้มันจะห่วยไปไหน

ลุงชอน ตาชอน เฮียชอน : สำหรับผม มองแบบนี้ครับ มอร์ไซด์สายตรวจในความคิดผมคือ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรถแรงครับ เพราะบอกตรงๆ ครับ ไม่มีประโยชน์ ทำไมนะรึ...

1. คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเอารถมอเตอร์ไซค์ไปไล่โจรผู้ร้าย สมมติ ถ้าโจรขี่กระบะ ขี่เก๋ง คุณตำรวจจะเสี่ยงชีวิต ขี่มอไซค์ ไล่ตาม หรอครับ อันตรายต่อชีวิตไปรึป่าวครับ
2. รถในราชการตำรวจ ท่องไว้นะครับ ไม่ใช่รถบ้าน จะได้ไว้ขี่ไปจ่ายตลาด พาม่ามี้ไปเที่ยวห้าง บลาๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับราชการใดๆ เพราะเหล่านั้นนอกเหนือจากการทำหน้าที่ มันจะทำให้รถเสื่อมการโดยใช่เหตุ เผลอๆ ลูกยืมไปขี่ คว่ำตายอีกทำไง อยากให้ควบคุมการใช้รถ เสมือนที่ควบคุมการใช้ปืนครับ มือเดียว คนเดียว นอกนั้น ถูกสอบ
3. เอาเงินซื้อมอไซค์คันนี้ ไปซื้อมอไซค์ธรรมดาดีกว่าครับ เอาแค่ 150 ก็พอละครับ แล้วเอาเงินส่วนที่เหลือตรงจุดนี้ ไปพัฒนาพวก กล้องตามจุดสำคัญๆ หรือ ทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ดีกว่าครับ

สมง สมอง คนคิดโปรเจกต์นี้ แม่งไปหมดละ เห้อ แดกกันจนชิน ประเทศไทย

Kidsada Chuenkum : ราคาจัดซื้อแพงเหมือน คาวาที่มาทำเปนรถดับเพลิงปะ 555 อย่าโกงประชาชนนะครับ เอาภาษีประชาชนไปแล้วอย่าไปบริการแต่นักการเมืองนะ ใส่ใจสังคมบ้าง โตๆ กันแล้ว คิดบ้างนะ

Akadech Chantrarome : ถ้าคุณทำเพื่อประชาชน ผมขอนับถือ แต่ถ้าคุณทำเพื่อตัวเองขอให้บาปนั้นคืนสนองกับตัวคุณเอง และครอบครัวครับ

• ย้อนรอยทุจริต - ฮั้วประมูล จัดซื้อรถสายตรวจไทเกอร์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสํานักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหาว่า พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ ผู้บังคับการพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ากระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการและกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ฮั้วประมูล) ในการดําเนินการ โครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ทดแทนจํานวน 19,147 คัน วงเงิน 1,144,550,600 บาท

ป.ป.ช. ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในการดำเนินการดังกล่าว มีผู้ซื้อซองเสนอราคา 6 ราย แต่ยื่นซองเสนอราคาเพียง 3 ราย มีเพียงบริษัท คาร์แทรคกิ้ง ซึ่งเสนอรถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ รุ่น Boxer200 เพียงรายเดียว แต่คณะกรรมการประกวดราคาไม่เสนอให้ยกเลิกการประกวดราคา กลับเสนอซื้อรถจักรยานยนต์ตามโครงการ โดยไม่อ้างเหตุผลความจําเป็นที่จะต้องซื้อ นอกจากนี้ คุณสมบัติของผู้เสนอราคารายการที่สําคัญคือ ต้องมีตัวแทนจําหน่าย ซึ่งให้บริการซ่อมครบทุกจังหวัด กรณี นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ เป็นผู้รับรองว่า บริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ จํากัด มีครบทุกจังหวัด ให้บริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัด โดย นางรักชนก แจ๊ะซ้าย กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด เสนอต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่ได้มีตัวแทนจําหน่าย ซึ่งให้บริการครบทุกจังหวัดแต่อย่างใด

ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งเริ่มการกําหนดคุณลักษณะจากขนาด 150 ซีซี มาเป็นขนาดไม่เกิน 200 ซีซี การกําหนดร่างขอบเขตงานในเรื่องของโรงงานผู้ผลิตต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ม.อ.ก.) และงบประมาณที่ได้รับทําให้พิจารณาได้ว่ามีเพียงรถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ รุ่น Boxer200 ที่สามารถเข้าเสนอราคาได้อย่างถูกต้องเพียงรายเดียว และยังไม่เสนอเพื่อให้มีการยกเลิกการประกวดราคา หรือไม่แสดงเหตุผลความจําเป็นใด เพื่อที่จะดําเนินการต่อ และที่สําคัญอีกประการคือไม่ได้ตรวจสอบเงื่อนไขที่สําคัญของการประกวดราคา ที่บริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัด ที่ไม่มีศูนย์ซ่อมและตัวแทนจําหน่ายดังกล่าว ทําให้เชื่อได้ว่ามีบริษัท คาร์แทรคกิ้ง เพียงรายเดียว ทําให้ทางราชการเสียหาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ใช้รถจักรยานยนต์ ไทเกอร์ ในการปฏิบัติหน้าที่ไม่สามารถนํารถจักรยานยนต์ ไปซ่อมบํารุงตามสัญญาได้ และพบว่ามีปัญหาหลายอย่าง เช่น อัตราเร่งไม่สามารถทําความเร็วได้เท่ากับรถยี่ห้ออื่นๆ ในท้องตลาด

ดังนั้น กระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ จึงไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย การกระทําของผู้เกี่ยวข้องจึงมีมูลความผิด คือ พล.ต.ต.สัจจะ ในฐานะกรรมการประกวดราคา ซึ่งทราบรายละเอียดมาทุกขั้นตอน และเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาครั้งนี้ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบระมัดระวังผลประโยชน์ของทางราชการให้สูงเป็นพิเศษ แต่กระทําการโดยมีเจตนาให้รถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ไทเกอร์ รุ่น BOXER200 ได้เข้าทําสัญญากับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ อีกทั้งในฐานะที่เป็นผู้บังคับการพลาธิการและสรรพาวุธ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพัสดุ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบพัสดุ แต่กลับไม่นําเสนอข้อเท็จจริงในการประกวดราคาในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเสนอราคาเพียงรายเดียว รวมทั้งเหตุผลและความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการประกวดราคาต่อไป เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาในการอนุมัติจัดซื้อ

การกระทําดังกล่าวจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ฐานเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทําการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออํานวยแก่ผู้เข้าทําการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล มาตรา 12 และฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นความผิดวินัย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ตาม พ.ร.บ. ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79(1)

ส่วนการกระทําของ พล.ต.ท.ประชิน วารี พล.ต.ต.สมพงษ์ น้าเจริญ และ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ ไม่ได้รู้เห็นการดําเนินการมาตั้งแต่ต้น แต่อยู่ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา โดยการที่ต้องตรวจสอบศูนย์ซ่อมรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ดังกล่าวตามที่เสนอมาว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบแม้กระทั่งการสุ่มตัวอย่างแต่อย่างใด คณะกรรมการประกวดราคากลับไม่ดําเนินการให้เหตุผลที่ไม่ยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาที่มีอํานาจในการอนุมัติจัดซื้อ จัดจ้าง การกระทําดังกล่าวเป็นความผิดวินัยฐานการรักษาวินัยในเรื่องไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีโดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ มาตรา 78(1) (1) และการกระทําผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง การกระทําดังกล่าวจึงเป็นการกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 79(6) ส่วน พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจํานง นั้น ในฐานะกรรมการประกวดราคา เป็นข้าราชการบํานาญ จึงไม่มีความผิดทางวินัย

นอกจากนี้ การกระทําของ น.ส.รักชนก แจ๊ะซ้าย หรือ น.ส.สุพิชญา สองมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัด ที่ได้ยื่นเสนอราคาต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยเสนอเอกสารหนังสือรับรองการเป็นตัวแทนจําหน่ายให้บริการซ่อมบํารุงตามมาตรฐานว่ามีตัวแทนจําหน่ายให้บริการซ่อมบํารุงครบทั้ง 76 จังหวัด เพื่อมีเจตนาให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณาให้บริษัท คาร์แทรคกิ้ง เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ การกระทําดังกล่าวถือว่า น.ส.รักชนก ได้กระทําการอันเป็นความผิดฐานร่วมกันในการเสนอราคา โดยเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นในทางประกอบธุรกิจปกติ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ส่วน นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ จํากัด ได้แจ้งรายชื่อที่ตั้งของตัวแทนจําหน่ายรถจักรยานยนต์ซึ่งให้บริการซ่อมบํารุงตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของบริษัท ไทเกอร์ มอเตอร์ จํากัด ครบทุกจังหวัด ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงมีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิดของ น.ส.รักชนก แจ๊ะซ้าย อันมีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล มาตรา 4 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


ภาพจาก www.checkraka.com

ภาพมอเตอร์ไซค์สายตรวจยี่ห้อไทเกอร์ (ภาพจาก supote2503.blogspot.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น