xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.กำหนดแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ป.ป.ส.กำหนดยุทธศาสตร์แนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามคำสั่ง คสช.ที่ 41/2557 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด คาด 3 เดือนเห็นผล

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (9 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. ทำการชี้แจงแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2557 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด

นายเพิ่มพงษ์กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส.ในฐานะเป็นหน่วยยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ มีบทบาทในการให้ข้อเสนอการแก้ไขปัญหายาเสพติด และรายงานข้อมูลการข่าวยาเสพติดให้กับทุกรัฐบาล รวมถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายในระดับชาติ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำนักงาน ป.ป.ส.ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด และตามที่ คสช.มีคำสั่ง ที่ 41/2557 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีเจตนารมณ์ในการมุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติด และได้รับการขานรับจากสังคมอย่างมากมายที่หวังให้ปัญหายาเสพติดลดลงและหมดไปได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ส.จึงได้กำหนดมาตรการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด 5 มาตรการ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติการในระยะสั้น โดยหวังผลภายใน 3 เดือน เพื่อนำเสนอต่อ คสช. คือ

1. มาตรการควบคุมแนวชายแดน เป็นการปฏิบัติการควบคุมตามแนวชายแดน การสกัดกั้นยาเสพติด การตั้งด่านตรวจด่านสกัด การสืบค้นตรวจจับและทำลายเครือข่ายการค้าตามแนวชายแดน

2. มาตรการควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นการควบคุมปัจจัยการสนับสนุน คุ้มครองให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น โดยให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งชี้แจง เน้นย้ำ และควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการสั่งให้ออกโดยทันที ก่อนตั้งกรรมการสอบสวนตามขั้นตอน

3. มาตรการควบคุมการค้าฯ ในเรือนจำ เป็นการตัดวงจรการค้ารายสำคัญจากเรือนจำสู่ภายนอก โดยนำผู้ต้องขังรายสำคัญมาก ที่มีพฤติการณ์ค้ายาเสพติดจากเรือนจำทั่วประเทศ 400 คน เข้าควบคุมในแดน 6 เรือนจำความมั่นคงสูงเขาบิน จ.ราชบุรี เพื่อควบคุมและตัดวงจรการค้าในเรือนจำ และเสริมประสิทธิภาพการคุมขังให้เข้มงวดสูงสุด

4. มาตรการควบคุมพื้นที่การค้าฯ รุนแรง เป็นการควบคุมและตัดวงจรการค้า โดยจัดให้มีการบูรณาการร่วมกันดำเนินการสืบสวน ปราบปราม โดยการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ขยายผล และยึดอายัดทรัพย์ในทุกคดี รวมทั้งลดความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการดำเนินการต่อข้อร้องเรียน ทั้งนี้ทุกจังหวัดต้องลดความรุนแรงของปัญหาให้ได้โดยเร็ว และให้มีการบังคับโทษสูงที่สุด สำหรับนักโทษรายสำคัญมาก ที่ยังคงมีพฤติการณ์ค้าฯ ในเรือนจำอยู่

5. มาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงและปัจจัยเสี่ยง เป็นการปฏิบัติการให้ทุกจังหวัดมีกองกำลังทั้งหน่วยพลเรือน ตำรวจ และทหาร รับผิดชอบปฏิบัติการเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ และดำเนินการด้านข้อมูลการข่าว เร่งดำเนินการลดจำนวนผู้เสพด้วยการบำบัดฯ โดยยึดหลักคุณภาพ สร้างภูมิคุ้มกันทั้งในและนอกสถานศึกษา รวมถึงในชุมชนและครอบครัว เพื่อควบคุมป้องกันมิให้มีผู้เสพรายใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังจัดให้มีศูนย์ควบคุมและสอบถามบุคคลด้านยาเสพติด (ศคส.) เพื่อหาข่าวข้อมูล ปรับพฤติกรรม และเฝ้าติดตามพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

นายเพิ่มพงษ์กล่าวต่อว่า ทาง ป.ป.ส.คาดหวังว่าภายในระยะเวลา 3 เดือน ผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติการตามมาตรการที่ต้องเกิดขึ้น คือ 1. ปัญหายาเสพติดในภาพรวมต้องลดลงและควบคุมได้อย่างชัดเจน 2. ผู้ค้า และผู้เสพฯ ต้องถูกดำเนินการอย่างเหมาะสม และมีจำนวนลดลง 3. ปริมาณยาเสพติดต้องลดลงอย่างเห็นได้ชัดและไม่แพร่หลาย โดยประเมินผลจากราคายาเสพติด 4. สังคมต้องมีความปลอดภัยจากปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด 5. ความพึงพอใจจากสังคมต่อปัญหายาเสพติด ต้องอยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจ 6. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องบูรณาการการปฏิบัติในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพ

นายเพิ่มพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้ง 5 มาตรการนี้เป็นปฏิบัติการระยะสั้น หวังผลในระยะเวลา 3 เดือน โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนในระดับชาติ มีสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นหน่วยงานอำนวยการในส่วนกลาง ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นกลไกในการอำนวยการแผน โดยตั้งเป้าหมายให้สถานการณ์ปัญหายาเสพติดคลี่คลายลงจนสามารถควบคุมได้ ซึ่งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เวลา 09.00 น. พล.อ.ไพบูลย์จะเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหารส่วนราชการระดับกรมจังหวัดอำเภอในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 1,300 คน ณ สโมสรทหารบก เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการเป้าหมาย บูรณาการกลไกการทำงาน และบูรณาการแผนงานและงบประมาณ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งหวังเอาชนะยาเสพติดให้ได้อย่างยั่งยืนซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสังคม และ คสช.




กำลังโหลดความคิดเห็น