ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง “อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธาน ปรส.กับเลขาธิการ ไม่มีความผิดกรณีขาย 56 ไฟแนนซ์ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 805 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีขายสินทรัพย์สถาบันการเงิน 56 แห่ง (ไฟแนนซ์เน่า) คดีดำ อ.3344/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 81 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่ 1 นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 67 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส. และกรรมการ กับเลขานุการ ปรส.ที่ 2 บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน ผู้รับประโยชน์ที่ 3 บริษัท เลแมน บาเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน ที่ปรึกษา ปรส.ที่ 4 กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์ ที่ 5 และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ที่ 6 เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 2 มิ.ย. - 1 ต.ค. 2541 จำเลยที่ 1-2 มติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 41 และได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการ เอื้อประโยชน์ให้บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด จำเลยที่ 3 เข้าร่วมประมูล แต่เมื่อถึงวันทำสัญญากลับมีการวางแค่เงินประกัน 10 ล้านบาท โดยยังไม่ได้ชำระเงินงวดแรก จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เกิดการยกเว้นภาษีส่งผลให้รัฐเสียหาย
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 17 กย. 2555 ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามฟ้อง จึงให้จำคุกนายอมเรศ ประธาน ปรส. และนายวิชรัตน์ เลขาธิการ ปรส. จำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้คนละ 3 ปี เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติ ส่วนจำเลยที่ 3-6 พิพากษาให้ยกฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีว่า ในการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีผู้ใดได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องด้วย
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และ 2 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 และ 2 นำสืบทำนองเดียวกันว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการประมูลขายสินทรัพย์ประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต มิได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งและมิได้ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์จากการเรียกเก็บภาษีแก่บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัดจำเลยที่ 3 เห็นว่า ก่อนการขายสินทรัพย์ของ ปรส.ทุกรายการได้ร่วมมือกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามนโยบายรัฐ เมื่อจำเลยที่ 3 ชนะการประมูลก็ได้ประสงค์โอนสิทธิการทำสัญญาขายให้กับกองทุนรวม โดยทาง ปรส.ได้หารือไปยังบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย 2 บริษัท ซึ่งได้คำแนะนำเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันในทางธุรกิจ โดยให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดแรกแก่ ปรส. และให้จำเลยที่ 3 รับรองว่าจะรับผิดชอบชำระค่าราคาประมูลในส่วนที่เหลือของสัญญาชำระหนี้ที่ไม่อาจเพิกถอนได้ ทาง ปรส.จึงทำตามคำแนะนำโดยไม่มีเจตนาช่วยเหลือผู้ใด
วิธีการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ ปรส.เสียหาย หรือไม่ได้รับเงินจำนวน 2,304 ล้านบาท หรือร้อยละ 20 ของราคาประมูล ตามประกาศและข้อสนเทศของ ปรส.แต่อย่างใด เนื่องจาก ปรส.ดำเนินการขายทรัพย์สินทั้งหมดโดยปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องภาษีอากรของกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังก่อนดำเนินการขายสินทรัพย์ทุกรายการแล้ว ด้วยเหตุนี้พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมานั้น จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 2 นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3-6
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายอมเรศ อดีตประธาน ปรส.ที่เดินทางมาพร้อมกับบุตรชายได้กล่าวด้วยสียิ้มแย้ม ยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ปรส.ดังกล่าวไม่ได้ทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย เพราะสินทรัพย์ที่เอามาขายเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีราคาแล้ว ยืนยันการจัดประมูลขายครั้งนั้นไม่การกำหนดเทคนิคหรือเลี่ยงการจัดเก็บภาษีที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนตามที่มีการกล่าวหา เมื่อถามว่าคดีนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายอมเรศกล่าวว่า ต้องไปถามนักการเมือง ส่วนตนเป็นนักบริหารก็ทำหน้าที่ในการบริหารงาน
“เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างหนึ่งว่าต่อไปคนจะทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็จะไม่เข้าปิ้งอย่างที่พวกเราทำไปแล้วประโยชน์ก็เพื่อส่วนรวม แต่คนที่เสียหายติดตามแก้แค้น เรื่องการเมืองหรือไม่ต้องไปตามนักการเมือง ผมเป็นเพียงนักบริหาร”
ส่วนอัยการจะอุทธรณ์คดีหรือไม่นั้น คงต้องรอดูอีกครั้ง เพราะในชั้นอุทธรณ์นั้นพนักงานอัยการก็ไม่ได้อุทธรณ์คดีแต่เป็นเรื่องที่จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีเองจึงไม่ทราบว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ในการยื่นฎีกาของอัยการ