ศาลสั่งถอนประกัน “ร.ต.แซมดิน-อมร-พิชิต” อดีต พธม.นำม็อบบุกกระทรวงบัวแก้ว-ตัดไฟ สตช.เผยขั้นตอนให้นายประกันนำตัวส่งศาลภายใน 7 วัน ส่วนอีก 6 แกนนำให้ยกคำร้อง
ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (23 พ.ค.) ศาลนัดฟังคำสั่งถอนประกัน ที่ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ยื่นคำร้องเพิกถอนประกันตัว 9 อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคดีชุมนุมปิดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมเกียติ พงษ์ไพบูลย์, นายรัชต์ยุตม์ หรือนายอมรเทพ ศิรโยธินภักดี หรือนายอมร อมรรัตนานนท์, น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายพิชิต ไชยมงคล, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ
โดยมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้ง 9 คนได้กระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวหรือไม่จากทางไต่สวนได้ความว่า นายพิภพ จำเลยที่ 3 นายสุริยะใส จำเลยที่ 5 นายสมเกียรติ จำเลยที่ 6 น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 16 นายสมบูรณ์จำเลยที่ 21 และพล.อ.ปฐมพงษ์ ที่ 84 แม้จำเลยดังกล่าวจะได้ขึ้นปราศรัยต่อประชาชนและร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ้างแต่ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้ง 6 คนดังกล่าวได้กระทำการใดๆ ที่น่าจะเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดไว้ในการอนุญาตปล่อยชั่วคราวคดี อ.973/2556 หรือกระทำการใดที่ก่อให้เกิดอันตราย แม้ น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 16 จะอยู่ร่วมในกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าไปในสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ดูแลก็ยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปได้เฉพาะชั้นล่าง ส่วนชั้นบนของอาคารที่เป็นห้องผู้บริหารผู้ชุมนุมไม่ได้เข้าไปตามที่ได้มีการเจรจากับเจ้าหน้าที่อีกทั้งยังไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 16 ได้เป็นแกนนำที่พาผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปในอาคาร ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของจำเลยทั้ง 6 ดังนั้นให้ยกคำร้องของดีเอสไอผู้ร้อง ในส่วนของจำเลยที่ 3, 5, 6, 16, 21 และ 84 แต่ศาลสั่งกำชับให้จำเลยทั้ง 6 โดยเฉพาะจำเลยที่ 16 พึงระวังการกระทำที่อาจจะหมิ่นเหม่ต่อการผิดเงื่อนไขปล่อยชั่วคราวของศาลโดยเคร่งครัด
ส่วนนายรัชยุตม์ นายพิชิต และเรือตรีแซมดิน จำเลยที่ 13, 17 และ 57 จากทางไต่สวนประกอบคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ได้ความว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 เวลา 18.00 น. จำเลยที่ 13 และ 17 ได้เป็นผู้นำนำมวลชน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และได้ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมเขย่าประตูจนแตกหักเสียหาย ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่บางส่วนอยู่ รวมทั้งยังได้ปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่รับใช้ระบอบทักษิณ กระทั่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2556 เวลา 12.00 น. จำเลยทั้งสองจึงได้นำผู้ชุมนุมออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนจำเลยที่ 57 ได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2556 จำเลยนำผู้ชุมนุม กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและได้มีการตัดไฟ เห็นว่าการที่ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย ก็เป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ที่ศาลจะต้องพิจารณาความหนักเบาข้อหารวมถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวว่ามีหรือไม่เพียงใด ดังนั้นได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วจำเลยก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด แต่ตามทางไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริง ว่าจำเลยที่ 13, 17 และ 57 ได้นำมวลชนปิดล้อมกระทรวงการต่างประเทศและสตช.กระทั่งมีการตัดไฟ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญาที่ได้ใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับประชาชนทุกคน และยังทำให้เกิดอนาธิปไตยเพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อกำหนดการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีสิทธิชุมนุมด้วยความสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญแต่การกระทำนั้นก็จะต้องไม่ไปกระทบหรือล่วงละเมิดสิทธิประชาชนคนอื่น การกระทำของจำเลยที่ 13, 17 และ 57 จึงฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้ ดังนั้นให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของจำเลยที่ 13, 17 และ 57 ตามคำร้อง โดยให้หมายแจ้งนายประกันนำตัวจำเลยทั้ง 3 ส่งศาลภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการถือว่านายประกันกระทำผิดสัญญาประกัน
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 9 คน ไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งของศาล แต่ส่งเสมียนทนายความมาฟังแทน ขณะที่ฝ่ายผู้ร้อง มี พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ เดินทางมาฟังคำสั่งศาล โดย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าวเพียงว่า หลังจากนี้ถือเป็นหน้าที่ของศาลที่จะเรียกทั้งสามคนมารายงานตัว เนื่องจากยังมีคดีที่อยู่ระหว่างได้ประกันตัวชั่วคราว ส่วนตนก็จะรายงานให้อธิบดีดีเอสไอทราบต่อไป