ดีเอสไอ-ปส.คุมตัว “ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อดีตอธิการบดีนิด้า ฝากขังข้อหากบฏ แต่ศาลยกคำร้อง สั่งให้นำตัวส่งอัยการเพื่อยื่นฟ้องเท่านั้น ไม่มีอำนาจควบคุมตัวเพื่อสอบสวนเพิ่มเติม ด้านอัยการรีบหอบสำนวนมายื่นฟ้อง ก่อนศาลจะรับฟ้อง และให้ประกันตัวไป โดยตีราคาประกัน 6 แสนบาท
วันนี้ (16 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.ไกรวิทย์ อรสว่าง รองผบ.สำนักการเงินและธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสยบไพรี ของ บช.ปส.ประมาณ 10 นาย พร้อมอาวุธปืนยาวและปืนสั้น ได้ควบคุมตัว ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ แกนนำ กปปส. และอดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาในข้อหาร่วมกันก่อกบฏและข้อหาอื่นๆ รวม 8 ข้อหา มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 16 พ.ค. - 27 พ.ค. 2557 เนื่องจากต้องรอผลการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาและอื่นๆ ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาอาจจะไปขึ้นเวทีปราศรัยปลุกระดมมวลชนและกระทำผิดซ้ำอีก
ขณะเดียวกัน นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทนายความของกลุ่ม กปปส.เดินทางมาดำเนินการยื่นขอปล่อยชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งของ รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันนิด้า เพื่อให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับผู้ต้องหาโดยระบุในหมายจับว่า “ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการนำตัวมาฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น” พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนต่อหรือสอบสวนเพิ่มเติมไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะขอฝากขังผู้ต้องหา ให้ยกคำร้อง
นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ทนายความ กล่าวว่า ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินการผิดจากที่เคยแถลงต่อศาลว่าอัยการพร้อมนำสำนวนและผู้ต้องหายื่นฟ้องต่อศาล ทั้งนี้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไออยู่ระหว่างประสานพนักงานอัยการคดีพิเศษ ในการยื่นฟ้องต่อศาลให้ทันภายในวันนี้ แต่ถ้าหากอัยการยื่นฟ้องไม่ทันก็คงจะต้องปล่อยตัวไป เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวตามคำสั่งศาล
ต่อมา 16.00 น. พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้หอบสำนวนมายื่นฟ้องศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 63 ปี แกนนำ กปปส. และอดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ,ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร อังยี่ ซ่องโจร มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และ อื่น ๆ รวม 8 ข้อหา กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 56 - 5 เม.ย. 2557 จำเลยกับพวก ในนามกลุ่ม กปปส. บังอาจร่วมกันกระทำการที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อเป็นการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเปลงในกฏหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล มิได้เป็นการกระทำตามมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่แสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต
ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ,113 ,116 ,117, 209 ,210, 215, 216 ,362 364 ,365 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒสภา 2550 มาตรา 76,152
อนึ่งขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้ จำเลยกับพวกยังไม่ยุติการกระทำผิดตามฟ้องคดีนี้ โดยยังคงกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาข้างต้นต่อเนื่องกันมา การกระทำที่ผ่านมาของจำเลยกับพวกเป็นความผิดสำเร็จครบองค์ประกอบทางอาญาตามข้อกล่าวหาแล้ว ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
โดยระหว่างการสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่จับกุมได้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ยื่นขอฝากขังจำเลย โจทก์จึงยื่นฟ้องและได้ส่งตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้องแล้ว หากจำเลยขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล โจทก์ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล อนึ่งหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ขอศาลได้โปรดวางเงื่อนไขและข้อกำหนดแก่จำเลยตามที่ศาลเห็นสมควรด้วย ท้ายฟ้องยังระบุว่าขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 5 ปีตามกฎหมายด้วย
โดยศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 7 ก.ค. นี้ เวลา 13.30 น. ซึ่งเป็นวันเดียวกับนัดตรวจพยานหลักฐาน นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม
ต่อมาเวลา 17.30 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้นายสมบัติ ปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณา โดยตีราคาประกัน 6 แสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆอันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่นปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรืออาจก่อให้เกิดภัยอันตรายใดๆ กระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีต่อประชาชน หรือกระทำการใดๆเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล
ศ.ดร.สมบัติ กล่าวระหว่างที่รอปล่อยชั่วคราวว่า อัยการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง อยากถามว่ามีหลักฐานหรือไม่ว่าตนเป็นกบฎ อั้งยี่ ซ่องสุม เพราะในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุม กปปส.นั้นเป็นการชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าใหญ่ที่สุด ซึ่งต้องใหญ่กว่ากฎหมายอื่น นี่ขนาดตนพอมีความรู้ยังโดนขนาดนี้ แล้วตาสีตาสาจะเป็นอย่างไร
ด้านนายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทนายความ กลุ่ม กปปส.กล่าวถึงกรณี ดีเอสไอจับกุม นายยศศักดิ์ โกศัยกานนท์ 1ใน 30 ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลในข้อหากบฏ ว่า เพิ่งทราบว่านายยศศักดิ์ถูกจับกุม หลังจากนี้ตนจะเข้าไปสอบถามและหาทางช่วยเหลือในเรื่องของการประกันตัวซึ่งไม่รู้ว่าทางพนักงานสอบสวนจะให้ประกันหรือไม่ ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ตนจะหารือกับทางแกนนำบางส่วนพร้อมที่จะเข้ามอบตัวหรือไม่เนื่องจากแกนนำบางส่วนไม่มีการ์ดคอยดูแล เพื่อความสะดวกเวลาเดินทางจะได้ไม่ต้องถูกจับให้เสียเวลา
นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า กรณีการยื่นฟ้อง ศ.ดร.สมบัติไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นสองมาตรฐานเมื่อเทียบกับกรณีของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการอิสระ 1ใน30 ผู้ต้องหา ที่ศาลออกหมายจับกรณีเดียวกัน เพราะของ ศ.ดร.สมบัติถูกจับตามหมายจับและไม่ได้มีการให้ประกันในชั้นสอบสวนของดีเอสไอ แม้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การตามขั้นตอนแล้ว แต่ก็ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนจึงมีเหตุยื่นคำร้องฝากขังต่อศาล ส่วนกรณีของนายเจิมศักดิ์ชัดเจนว่าผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัว พร้อมทั้งได้ยื่นขอประกันตัวและพนักงานสอบสวนพิจารณาให้ปล่อยตัว โดยจะสรุปบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและคำให้การของผู้ต้องหานั้น พร้อมกับส่งตัวนายเจิมศักดิ์ให้อัยการยื่นฟ้องตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งทั้งสองกรณีจะเป็นแนวปฏิบัติต่อไปว่าหากผู้ต้องหามอบตัวตามหมายจับและได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ก็จะส่งตัวให้อัยการยื่นฟ้องในภายหลัก แต่หากผู้ต้องหาถูกจับกุมก็จะต้องส่งตัวให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลทันที เพราะว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้ฝากขังกรณีดังกล่าวแล้ว ที่ผ่านมาอัยการก็ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอมาตลอดว่าให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย และคำสั่งศาลโดยยืนยันว่าการยื่นฟ้องของอัยการดังกล่าวไม่เกี่ยวกันกับที่อธิบดีดีเอสไอและศอ.รส. ออกมาระบุถึงการเร่งจับกุมตัวแกนนำกปปส. เพื่อดำเนินคดี แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวแล้วไม่ประสงที่จะประกันตัวชั้นสอบคำให้การกับดีเอสไอ แต่พร้อมจะให้อัยการยื่นฟ้อง ดีเอสไอก็สามารถส่งมอบตัวพร้อมบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและคำให้การของผู้ต้องหานั้นให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันที
นายนันทศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่เคยมีคำสั่งแจ้งให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มกับนายสุเทพ เลขาฯ กปปส. และนายชุมพล จุลใส แกนนำกปปส. ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ตามป.อาญา มาตรา 135/1 ด้วยว่า ผู้ต้องหาทั้งสองมีหมายจับอยู่แล้วดังนั้นหากมีการเข้ามอบตัวเองเช่นเดียวกับนายเจิมศักดิ์ กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การจะไม่ต่างกัน แต่หากทั้งสองถูกจับกุมตามหมายจับแล้ว หากได้ตัวก็จะต้องส่งให้อัยการยื่นฟ้องคดี ซึ่งหลังจากที่อัยการมีความเห็นควรให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในคดีกบฏและก่อการร้าย ก็ได้ร่างฟ้องไว้แล้วเพียงแต่รอพนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วนถึงการแจ้งข้อกล่าวหาว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองคนดีเอสไอได้เคยออกหมายเรียกไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มาพบ ทั้งสองจึงยังไม่เคยได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้การตามขั้นตอนโดยครบถ้วน
อธิบดีอัยการคดีพิเศษ ยังกล่าวถึง กรณีกระแสข่าวที่จับกุมนายยศศักดิ์ โกศัยกานนท์ 1ใน30 ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลในข้อหากบฏ ว่า หากมีการจับกุมตัวนายยศศักดิ์ได้ในช่วงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลปิดทำการในวันเวลาราชการแล้ว อัยการก็ไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ทัน ดังนั้นหากพนักงานสอบสวนดีเอสไอเมื่อได้นำตัวไปแจ้งข้อหาและทำบันทึกการจับกุมของผู้ต้องหาเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากไม่ได้ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ก็จะทำการยื่นคำร้องฝากของในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) ซึ่งศาลจะเปิดทำการครึ่งวัน โดยในการยื่นคำร้องพนักงานดีเอสไอก็ต้องระบุเหตุจำเป็นให้ชัดเจนว่า เป็นการยื่นคำร้องฝากขังเพื่อที่ให้อัยการยื่นฟ้องในวันเปิดทำการคือวันที่ 19 พ.ค. นี้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมตัวได้เมื่อล่วงเลยระยะเวลาทำการแล้ว ส่วนศาลจะพิจารณาอนุญาตหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ถ้าหากดีเอสไอยื่นคำร้องฝากขังลักษณะเช่นเดียวกับศ.ดร.สมบัติ ศาลก็อาจจะยกคำร้องอีก