xs
xsm
sm
md
lg

ศาลออกหมายจับ 30 แกนนำ กปปส.รอด 13

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอาญาสั่งอนุมัติหมายจับ 30 แกนนำ กปปส.ในข้อหากบฏ แต่ตำรวจต้องดำเนินการจับกุมมาดำเนินคดีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนอีก 13 คนรอดศาลยกคำร้อง ชี้ตกเป็นจำเลยในคดีพันธมิตรฯ อยู่แล้ว อัยการมีสิทธินำตัวส่งฟ้องได้ทันทีเพราะผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ระหว่างขอปล่อยตัวชั่วคราว อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมตัวของศาล



วันนี้ (14 พ.ค.) ศาลได้อ่านคำสั่งที่พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุมัติหมายจับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำกปปส. ผู้ต้องหาที่ 2 และแกนนำกปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏและความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมายที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนอ่านคำสั่งศาลได้กล่าวชี้แจงต่อคู่ความว่า ในการพิจารณาออกคำสั่ง ศาลได้ตรวจสอบก่อนว่าผู้ที่ถูกนำมาออกหมายจับมีคดีในชั้นศาลและได้มีการฝากขังเรียบร้อยแล้วหรือไม่ และการพิจารณาศาลได้ยึดหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ รวมถึงปฏิบัติตามข้อบังคับของศาลอาญาเหมือนเช่นที่เคยทำ ซึ่งเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ ไม่ได้มองว่าผู้ต้องหาเป็นฝ่ายไหน โดยได้ปรึกษาผู้บริหารและอธิบดีศาลอาญาเรียบร้อยแล้ว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามทางไต่สวนได้ความว่าที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 43 คนนั้น พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวแล้วตามหนังสือที่ อส. 0010.4/292 ลงวันที่ 8 พ.ค.57 แต่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหาดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ของศาลอาญา ฉบับลงวันที่ 12 พ.ค.57ว่า ที่ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ต้องหาที่ 13 เป็นคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำ อ.1279/2556 พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์ ผู้ต้องหาที่ 31 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1406/2556 นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ต้องหาที่ 51 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 คดีอาญาหมายเลขดำ อ.1087/2556 น.ส.อัญชะลี ไพรีรักษ์ ผู้ต้องหาที่ 10 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ต้องหาที่ 15 นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ผู้ต้องหาที่ 18 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ต้องหาที่ 32 นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี ผู้ต้องหาที่ 37 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้ต้องหาที่ 39 นายสาวิทย์ แก้วหวาน ผู้ต้องหาที่ 41 นายกิตติชัย ใสสะอาด ผู้ต้องหาที่ 43 นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ ผู้ต้องหาที่ 46 และนายสำราญ รอดเพชร ผู้ต้องหาที่ 52 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 16, 6, 21, 5, 13, 4, 10, 29, 20 และที่ 8 ในคดีปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ หมายเลขดำ อ.973/2556 ของศาลอาญา ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ถือได้ว่าผู้ต้องหาดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลอาญาแล้ว เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยดังกล่าวหลบหนีระหว่างการปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาย่อมมีอำนาจที่จะบังคับให้นายประกันส่งตัวจำเลยต่อศาลในคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้วเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ดังนั้น พนักงานอัยการจึงสามารถฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลได้โดยไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาล จึงไม่จำต้องออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 13 คนเพื่อนำตัวมาฟ้องคดี ให้ยกคำร้องในส่วนนี้

ส่วนผู้ต้องหาอีก 30 คน ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ต้องหาที่ 2 นายชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ต้องหาที่ 4 นายอิสระ สมชัย ผู้ต้องหาที่ 5 นายวิทยา แก้วภราดัย ผู้ต้องหาที่ 6 นายถาวร เสนเนียม ผู้ต้องหาที่ 7 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 8 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 9 นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11 นายอุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ผู้ต้องหาที่ 14 นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ ผู้ต้องหาที่ 16 พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 17 นางสาวจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ กฤดากร ผู้ต้องหาที่ 19 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 23 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ต้องหาที่ 25 นายเสรี วงษ์มณฑา ผู้ต้องหาที่ 26 นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27 นายถนอม อ่อนเกตุพล ผู้ต้องหาที่ 28 พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ (พระพุทธอิสระ) ผู้ต้องหาที่ 40 นายสาธิต เซกัล ผู้ต้องหาที่ 42 นายคมสัน ทองศิริ ผู้ต้องหาที่ 44 นายมั่นแม่น กะการดี ผู้ต้องหาที่ 47 นายประกอบกิจ อินทร์ทอง ผู้ต้องหาที่ 48 นายนัสเซอร์ ยีหมะ ผู้ต้องหาที่ 49 นายพานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ต้องหาที่ 50 นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ผู้ต้องหาที่ 54 นางทยา ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 55 พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี ผู้ต้องหาที่ 56 และพลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ ผู้ต้องหาที่ 57 ยังจับตัวไม่ได้ จึงอนุญาตให้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 30 คนดังกล่าวข้างต้นเพื่อนำตัวมาฟ้องคดี โดยให้หมายเหตุไว้ในหมายจับด้วยว่า “เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น” และให้เพิกถอนหมายจับฉบับเดิมที่ศาลอาญาเคยออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 3-5, 11-13, 37, 40, 43 และ 52

ภายหลัง พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า หลังจากนี้ต้องแจ้งผลให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งจะเห็นด้วยกับคำสั่งศาลหรือไม่ ต้องให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา

ด้านนายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทีมทนายความกปปส. กล่าวว่า คำสั่งศาลดังกล่าวที่ออกหมายจับบางคน และยกคำร้องบางส่วนก็ถือว่าได้พิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว เนื่องจากอัยการระบุว่าจะส่งสำนวนฟ้องต่อศาลแล่้ว แต่ยังไม่ได้ตัวมาส่งฟ้อง ตามข้อกฎหมายแล้ว ศาลจะต้องออกหมายจับให้เพื่อนำตัวมาฟ้อง จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หมายจับครั้งนี้ถือว่ามีผลเฉพาะให้ดีเอสไอนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องดำเนินคดีเท่านั้น ซึ่งต่างจากหมายจับเดิมของผู้ต้องหาบางราย ที่หากจับตัวได้พนักงานสอบสวนอาจจะควบคุมตัวไว้ได้ก่อน หลังจากนี้จะกลับไปแจ้งให้แกนนำกปปส. และคปท.ทราบถึงคำสั่งศาล เพื่อหารือแนวทางในการต่อสู้คดี โดยแนวทางที่พิจารณาไว้อาจจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งออกหมายจับดังกล่าวต่อไป

ขณะที่ นายวิทยา แก้วภราดัย แกนนำกปปส. กล่าวว่า การออกหมายจับถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้มีความกังวลใจอะไร และจะไปมอบตัวเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจปฏิรูปประเทศอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม คนที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว คือ อัยการสูงสุด (อสส.) ไม่ใช่คนนั่งสแตมป์หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับแล้วสำนักงานอสส.ทำตาม มิเช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมก็จะถูกทำลายไปด้วย



นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทนายความ กลุ่มกปปส.



ทนายความหลวงปู่พุทธอิสระที่ถูกดีเอสไอยื่นศาลออกหมายจับ

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ
เดินหอบหมายจับออกมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม


กำลังโหลดความคิดเห็น